ชวน 4 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิรักษา ฉีดวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” ฟรี เริ่ม 1 มิ.ย. 60 นี้ รวม 3.1 ล้านโดส ลดภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการแพร่ระบาด ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ย้ำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปี 60 ครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์แพร่ระบาดตามคำแนะนำ WHO
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ และเกิดได้ตลอดปี โดยระบาดมากในช่วงฤดูฝน อาการป่วยที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสุขภาพ การทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตเนื่องจากผู้ป่วยต้องหยุดพักรักษาตัว ในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีภูมิต้านทานน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ที่ผ่านมาบอร์ด สปสช.จึงอนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปี 2560 สปสช.ได้เตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่ 3.1 ล้านโดส โดยร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) และหน่วยบริการ เพื่อฉีดให้กับประชาชน 4 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ คือ 1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน และ 4. ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี โดยสามารถรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการรัฐและเอกชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 เป็นต้นไป
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่นี้ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายชนิด 3 สายพันธุ์ คือ ชนิด A (H1N1), A (H3N2) และชนิด B ซึ่งมีความคุ้มค่าและความปลอดภัยกว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ที่เพิ่งมีใช้ในภาคเอกชน เพราะมีประสบการณ์การใช้ในประเทศไทยยาวนานกว่า 10 ปี และยังเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทยและทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ผลดี เนื่องจากเชื้อไม่มีปัญหากลายพันธุ์ สำหรับปี 2559 การระบาดของไข้หวัดใหญ่พบว่า มีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) เป็นสายพันธุ์ใหม่พบในมิชิแกน ส่วนชนิด A (H3N2) และชนิด B (วิคตอเรีย) มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับที่ผ่านมา คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด H3N2 ที่พบในฮ่องกง และชนิด B วิคตอเรีย พบในบริสเบน ดังนั้นปี 2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ ประกอบของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) สายพันธุ์ใหม่/มิชิแกนแทนแคลิฟอร์เนีย 2009, ชนิด A (H3, N2) สายพันธุ์เดิม/ฮ่องกง และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B สายพันธุ์ เดิม/วิคตอเรีย หากในปีนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ขนิด B/วิคตอเรียเพิ่มขึ้น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ก็จะป้องกันครอบคลุมได้ ขณะที่วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ได้เพิ่มชนิด B/ยามากาตะ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่ามีโอกาสพบน้อยที่สุดของทั้งหมด โดยมีความชุกไม่ถึงร้อยละ 5 ทางการแพทย์ถือว่าประสิทธิภาพครอบคลุมใกล้เคียง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีน 4 สายพันธุ์
ทั้งนี้ จากรายงานเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วย 167,220 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 255.58 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 44 ราย ผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และเป็นจำนวนสูงกว่าปี 2558 ถึง 2 เท่า ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวน 75,114 ราย เสียชีวิต 44 ราย สำหรับในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม - 20 มีนาคม 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 16,754 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A (H1N1), A(H3N2) และสายพันธุ์ B