โดย...ผศ.นพ. รัฐพล ตวงทอง หัวหน้าสาขาโรคเส้นผมและการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
โดยปกติคนเราจะมีเส้นผมบนศีรษะประมาณ 90,000 - 140,000 เส้น ในหนึ่งตารางเซนติเมตรจะมีเส้นผมอยู่ 120 - 200 เส้น และร่วงไม่เกินวันละ 100 เส้น “ผม” ของแต่ละคนจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ตรงหรือหยิก สีทองหรือสีดำ ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและกรรมพันธุ์
อย่างคนเอเชียอย่างพวกเราจะโชคดีหน่อย ที่ผมของเราอาจจะแข็งแรงกว่าคนผิวขาวหรือคนผิวดำ แต่อย่าเพิ่งประมาทไป หากมีการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพผมไม่ถูกต้อง เราก็มีเสี่ยงเป็นโรคทางเส้นผมและหนังศีรษะได้เหมือนกัน
การดูแลเส้นผมโดยทั่วไป จะอาศัยหลักการรักษาสุขภาพแบบง่ายๆ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอกจากนั้น ยังต้องเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผมเสีย เช่น การทำเคมี ทั้งยืดดัดย้อมผมบ่อยเกินไป ก็ทำให้ผมร่วงก่อนวัยอันควร หมั่นสังเกตสัญญาณเริ่มต้นของอาการผมบางศีรษะล้าน โดยเริ่มจากมีผมร่วงเกินวันละ 100 เส้น และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการอักเสบของหนังศีรษะ หนังศีรษะมัน มีแผล ฝี รังแค เป็นต้น ซึ่งหากเกิดความผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม
จริงๆ แล้วเส้นผมของคนเราเป็นโปรตีน เปลือกของผิวผม จะมีลักษณะคล้ายๆ กับกระเบื้องหลังคาบ้าน ซึ่งหากมีการดัดหรือย้อมผมมากเกินไป ตัวผิวพวกนี้มันจะเกิดการกระเดิดหรือยกขึ้นมา จึงทำให้เกิดการหงิกงอได้ บางครั้งหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า “ผม” ของคนเราเนี่ยร่วงได้อย่างไร จริงๆ แล้วเส้นผมเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายที่มีการผลิตมากทีเดียว แต่เมื่อพอผลิตแล้วก็มีการหลุดร่วงออกไป โดยการหลุดร่วงของผมขึ้นกับวงจรการเติบโตของเส้นผม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะการเจริญเติบโต หรือ Anagen Phase คือ ระยะที่ต่อมรากผมจะอยู่ลึกที่สุดในชั้นหนังแท้ โดยมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มากมาย และจะใช้เวลาประมาณ 1,000 วัน หรือ 3 ปี ในการเจริญเติบโตเป็นเส้นผมเส้นผมทั้งศีรษะประมาณ 85 - 90 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้
2. ระยะหยุดการเจริญเติบโต หรือ Catagen Phase คือ ระยะหยุดการเจริญเติบโต ต่อมรากผมจะหยุดการแบ่งเซลล์ แต่ต่อมรากผมจะมีการค่อยๆเลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยทั่วไประยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
3. ระยะพัก หรือ Telogen Phase ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของเส้นผมเมื่อต่อมรากผมเลื่อนสูงขึ้นจนถึงบริเวณของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) แล้ว ผมของคนเราก็จะเข้าสู่ระยะพัก ซึ่งจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 100 วัน หรือ 3 เดือน ทั้งนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ของเส้นผมทั้งศีรษะจะอยู่ในระยะพักนี้ ก่อนที่เซลล์ต้นกำเนิดจะส่งสัญญาณให้ต่อมผมเลื่อนลงมาอีกครั้งเพื่อให้มีการสร้างผมใหม่ โดยเส้นผมใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่จะดันผมเก่าให้หลุดร่วงไป
สำหรับปัญหาเรื่องผมหงอกก่อนวัยนั้น เกิดขึ้นจากพันธุกรรมและกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นตัวกำหนด แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย คือ เรื่องของความเครียด พวกสารเคมี การสูบบุหรี่ เรื่องของการใช้ยาต่างๆ ซึ่งทำให้มีภาวะผมร่วงมากขึ้นบางครั้งต่อวัน อาจมากถึง 200 เส้นต่อวัน คนเราเวลาอายุมากขึ้น นอกจากผมที่อาจจะหงอกเพิ่มขึ้นแล้ว ผมก็จะมีลักษณะเหี่ยวเหมือนกัน เพราะเปลือกผมจะเป็นริ้วรอยจากการเสียดสีของหวี ดังนั้น ยิ่งหวีผมมากเท่าไหร่ ผมยิ่ง “เหี่ยว” มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ความร้อนและสารเคมีที่เราใช้กับเส้นผม เช่น การรีดผมหรือดัดผม ถือเป็นตัวการสำคัญทำให้เปลือกผมเป็นริ้วรอยมากขึ้น ทำให้ระยะการเจริญเติบโตของผมสั้นลง จำนวนเส้นผมจะน้อยลงอย่างน้อยๆ 10 เปอร์เซ็นต์ และในทุกช่วงอายุ 10 ปี ขนาดของเส้นผมของคนเราจะเล็กลง
ดังนั้น จริงๆ แล้ว การดูแลถนอมเส้นผมเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีการบำรุงด้วยครีมนวดผม หากทำการรีดผมหรือดัดผม ก็ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป ซึ่งการย้อมผมก็คล้ายๆ กัน ไม่ควรทำบ่อยเกินไป และควรเลือกสีย้อมผมตามธรรมชาติ แต่ก็จะมีข้อเสีย คือ จะติดไม่ทนเท่ายาย้อมผมประเภทสารเคมี สำหรับคนที่มีปัญหาผมร่วงเยอะขึ้นเรื่อยๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแนวทางการรักษานั้น แพทย์จะให้คำปรึกษาและรักษาด้วยการทายาและรับประทานยาใน 1 ปีแรก หากยังไม่ได้ผลก็จะรักษาด้วยการปลูกถ่ายเส้นผม ซึ่งมีหลากหลายวิธีให้เลือกในปัจจุบัน