xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 3 มาตรการ “พะเยาโมเดล” ลดโรงกลั่นสุราชุมชน ลดการเข้าถึงน้ำเมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พะเยาผนึกกำลังคุมเข้มโรงกลั่นสุราชุมชน ต้องมีมาตรฐาน ลดจำนวนโรงกลั่นสุราชุมชนจาก 270 โรง เหลือแค่ 160 โรง หวังลดแหล่งผลิตต้นน้ำเพื่อลดโอกาสการเข้าถึงโดยง่าย นายกฯ ชู “พะเยาโมเดล” ตัวอย่างแก้ไขปัญหาสำเร็จ ใช้ “3 มาตรการ” กฎหมาย ปกครอง สังคม ด้าน สคล. เตรียมถอดบทเรียน “”พะเยาโมเดล” ขยายผลทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชนลงพื้นที่ ต.ห้วยแก้ว และ ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา ตรวจสอบโรงงานกลั่นสุราชุมชน ร้านจำหน่ายสุรา และการใช้มาตรการด้านกฎหมายแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ จ.พะเยา ที่ผ่านมา ในทั่วประเทศมีโรงงานผลิตสุราชุมชน 3,800 ราย ครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีความชุกการดื่มสุราสูงสุดของประเทศถึงร้อยละ 39.43 ในขณะที่ จ.พะเยา มีผู้ลงทะเบียนผลิตสุราเสรี 242 ราย เป็น โรงกลั่นผลิตสุรา เช่น กระแช่ สาโท ไวน์ และ สุราขาว 28, 30, 35, 40 ดีกรี

จากการที่รัฐบาลได้เอาจริงจังกับการแก้ปัญหาสุราผิดกฎหมาย ทั้งในด้านการจัดตั้งโรงงาน การชำระภาษี และการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานผลิตสุราชุมชนที่ลักลอบผลิต และจำหน่ายสุราแบบไม่ติดแสตมป์หรือสุรานอกระบบ เป็นสุราเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน และเป็นอันตรายต่อการบริโภค โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นประธานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสุรากลั่นชุมชน สำหรับพื้นที่พะเยา คณะทำงานฯ ได้ร่วมกับที่ทำการปกครองจังหวัดพะเยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสรรพสามิตจังหวัด ที่ทำการปกครองอำเภอ สถานีตำรวจภูธร ทำการสุ่มตรวจสอบโรงงานสุรากลั่นชุมชนในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานโรงงาน แก้ปัญหาสุราเถื่อนในพื้นที่

นายเกรียงไกร เตชะวรางกุล ปลัดอำเภอ สังกัดที่ทำการปกครองจังหวัดพะเยา คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานติดตามตรวจสอบมาตรฐานโรงงานสุรากลั่นชุมชน และร้านค้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน จ.พะเยา เพื่อร่วมดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของจังหวัดพะเยาในการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายพะเยาต้องไม่เป็นจังหวัดที่มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยนำ “มาตรการ 3 ม.” ได้แก่ “มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางสังคม” มาใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน จากที่มีโรงกลั่นเหล้ามากถึง 270 โรง ปัจจุบันเหลือแค่ 160 โรง เป็นความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรี ยกให้เป็น “พะเยาโมเดล” และได้ขอให้จังหวัดอื่นนำกรณีศึกษานี้ไปเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือจากประชาชนตามแนวทางประชารัฐและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ในขั้นตอนการดำเนินงานในการตรวจสอบโรงกลั่นสุรา จะใช้แนวทางออกตรวจทุกเดือนครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอ ซึ่งจะเน้นการแนะนำให้เป็นไปตามสุขลักษณะ การใช้ภาชนะรองรับที่ถูกต้อง และการตรวจสอบอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจากการเข้มงวดดังกล่าว ทำให้สามารถลดจำนวนโรงกลั่นที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจาก 270 โรงงาน เป็น 160 โรงงาน โดยมีแนวทางปฏิบัติ คือ สั่งให้แก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาชนะบรรจุ สั่งพักใบอนุญาต และยกเลิกใบอนุญาต

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การจัดให้มีการชิงโชคชิงรางวัล รวมทั้งการดื่มในสถานที่ต้องห้ามตามกฎหมายและในสวนสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งมาตรการที่ทางคณะทำงานใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยเน้นการตรวจเตือน แนะนำก่อน และมีการบังคับใช้จริงจัง ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ชุดปัจจุบัน จะมีการกำหนดแผนงานเพื่อการออกตรวจร่วมกันเดือนละครั้ง 9 ครั้ง ซึ่งได้ร่วมกันออกตรวจมาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากการร่วมขับเคลื่อนและผลักดันการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา มาตั้งแต่ปี 2556 จนสามารถจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จ.พะเยา ได้สำเร็จ ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีกลไกการทำงานที่เชื่อมประสานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อย่าง หน่วยงานปกครอง ท้องถิ่น สรรพสามิต และภาคประชาสังคม ร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นทิศทางเดียวกัน และมีความต่อเนื่อง ทั้งการสร้างค่านิยมใหม่ไม่ดื่ม การผลักดันนโยบายสาธารณะใหม่ การกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ และมาตรการชุมชนหรือสังคมที่กำหนดขึ้นเองตามบริบทของพื้นที่ ทำให้สามารถลดปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง จ.พะเยา เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศที่ทำได้สำเร็จ ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ แก้ปัญหาเป็นจุดๆ เป็นเรื่องๆ แต่ไม่ได้ทำครอบคลุมรอบด้านเหมือน จ.พะเยา ทั้งนี้
สคล. จะเตรียมถอดบทเรียนการทำงานของ จ.พะเยา เพื่อนำไปต่อยอดขยายผลการทำงานให้พื้นที่อื่นๆ ได้ศึกษาและเรียนรู้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น