xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้น "เขาโปกโล้น" ยลเมืองนครชุม ชมบ่อเกลือสินเธาว์พันปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยอดเขาโปกโล้น
“นครชุม” ตำบลเล็กๆ ที่ถูกซ่อนอยู่ในหุบเขาของอำเภอนครไทย จ.พิษณุโลก กลับมีมนต์เสน่ห์เรื่องราวที่น่าสนใจอยู่มากมาย “ตะลอนเที่ยว” ได้ไปเยือนนครชุมคราวนี้เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานพิษณุโลก ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม ได้สนับสนุนเมืองนครชุมเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดพิษณุโลก จึงได้จัดทริปพาเราไปท่องเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความงดงามในแบบฉบับของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร รวมไปถึงธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ให้เราได้ไปสัมผัสกัน
จุดชมวิวร่องเขานครชุม
เรื่องราวความเป็นมาของตำบลนครชุมนั้นต้องย้อนกลับไปสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตำบลนครชุมเคยเป็นที่ซ่องสุมกำลังพลของพ่อขุนบางกลางหาว ที่ต่อสู้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองลาด (เมืองเพชรบูรณ์) ยกทัพ ไปตี เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัย จนได้ชัยชนะจากขอม จากนั้นจึงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์" และตั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ที่แห่งนี้จึงได้มีความสำคัญในส่วนเล็กๆ ของประวัติศาสตร์ชาวไทยที่คนนครชุมภูมิใจ
บรรยากาศสวยๆ ที่จุดชมวิว
พระอาทิตย์กำลังตกที่จุดชมวิวร่องเขานครชุม
นั่งรถมาเรื่อยๆ ผ่านภูเขาหลายลูก ก่อนที่รถของพวกเราจะหยุดดูจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาที่โอบล้อม อย่าง “จุดชมวิวร่องเขาแห่งนครชุม” จุดชมวิวแห่งนี้เป็นจุดที่ชาวบ้านในนครชุมต่างร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่มีภูเขารอบด้านและหมู่บ้านนครชุมตั้งอยู่ และเป็นจุดที่สามารถชมพระอาทิตย์ทอแสงลับฟ้าสัมผัสบรรยากาศไปอีกแบบ แต่ถ้ามาในช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้วละก็จุดชมวิวแห่งนี้จะเป็นจุดชมหมอกอีกแห่งที่ใกล้ชิดและสวยงามมากกว่าจุดยอดฮิตที่อื่นเป็นไหนๆ
ที่พักโฮมเสตย์ในนครชุม
พักโฮมเสตย์ ขี่จักรยานท่องเที่ยวชุมชน

ชมความสวยงามยามเย็นนครชุมไปแล้วเรานั่งรถกันตรงไปยังหมู่บ้านนครชุม ก่อนที่จะเข้าพักโฮมเสตย์อย่างเรียบง่าย ที่ว่าเรียบง่ายนั้นหมายถึง โฮมเสตย์ที่เรานอนพัก ส่วนมากจะเป็นบ้านของชาวบ้านนครชุมที่อาศัยอยู่ ก่อนที่ชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจจัดตั้งต้อนรับนักท่องเที่ยว ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เป็นอีกหนึ่งกระจายรายได้ในชุมชน โดยมีชาวบ้านนครชุมเข้าร่วมกว่า 12 หลังคาเรือนด้วยกัน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอนกับการอยากมาพักแบบชาวบ้านๆ เรียนรู้อาหารท้องถิ่นนั้นๆ แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนโรงแรมกับรีสอร์ท แต่ก็ให้ความรู้สึกชวนหลงใหลไปอีกแบบ
หลามไก่ เป็นการปรุงอาหารแบบโบราณของชาวบ้านนครชุม
อาหารท้องถิ่นนครชุม
แน่นอนว่าการมาพักแบบโฮมเสตย์ อีกอย่างที่ไม่ควรพลาด นั่นคือการได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่น ซึ่งอาหารแต่ถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน โดยเริ่มต้นกันที่ "ไข่ป่าม" (ป่ามเป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่า ปิ้ง) เป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือที่ปรุงไข่ให้สุกด้วยวิธีป่าม โดยเทไข่ลงบนใบตอง และเทน้ำลงใต้ใบตอง ตั้งไฟให้ไข่สุก มีลักษณะคล้ายไข่เจียว กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเหาะเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีเมนูยอดฮิตที่ชาวบ้านนครชุมชอบกิน อย่าง “หลามไก่" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีประกอบอาหารแบบดั้งเดิมและโบราณที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยการนำไก่ที่จะทำการ "หลาม" นำมาคลุกเคล้าเครื่องปรุงรส นำมาต้มใส่กระบอกไม้ไผ่ เป็นเมนูที่จัดว่าอร่อยมากๆ หากใครมาเยือนนครชุมแล้วไม่ได้ลิ้มลอง “หลามไก่” ถือว่ามาไม่ถึงกันเลยทีเดียว
ปั่นจักรยานชมนครชุม
บริเวณหน้า “ศาลปู่หลวงนครชุมรูปงาม
ศาลปู่หลวงนครชุมรูปงาม
เข้าที่พักเตรียมตัวพร้อมจักรยานหนึ่งคันที่คุณป้าจัดหาให้ ขี่ปั่นออกไปตามเส้นทาง นครชุม เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ใหญ่มาก ชาวบ้านจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นซะส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาขี่จักรยานไปไหนมาไหนก็มักจะเห็นทุ่งนา ฝูงวัวควายออกมากินหญ้ากัน เป็นบรรยากาศท้องทุ่งชนบทที่แท้จริง เราปั่นเรื่อยๆ ไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน ไหว้ “ศาลปู่หลวงนครชุมรูปงาม” ที่สถิตดวงวิญญาณของปู่หลวงนครชุม หรือท้าวแสงเมืองหรือขุนหาญห้าว ผู้รักษาเมืองหน้าด่านของนครชุม พอถึงเดือน 6 ของทุกปีจะมีการบวงสรวงดวงวิญญาณของปู่เจ้ารูปงามเป็นประจำ เป็นแหล่งศักดิ์สิทธ์ที่เคารพสักการบูชาของชาวตำบลนครชุม ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้
ชาวบ้านกำลังต้มเกลือที่ บ่อเกลือพันปีบ้านนครชุม
จากนั้นไปชมกันต่อที่ “บ่อเกลือพันปีบ้านนครชุม” หรืออีกชื่อว่า "บ่อเกลือสองสาวพี่น้อง" ที่นี่เป็นบ่อเกลือมีความพิเศษไม่เหมือนใคร คือเป็นบ่อเกลือน้ำเค็มที่ผุดขึ้นจากใต้ดิน ชาวบ้านเลยทำการขุดเป็นบ่อลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเเพื่อง่ายต่อการตัก ชาวบ้านจะตักน้ำในบ่อนี้เอามาต้มให้ระเหยออกไปหมดจะได้เกลือสินเธาว์เอาไว้ใช้ บ่อน้ำแห่งนี้ถือว่าชาวบ้านเป็นเจ้าของร่วมกัน ใครอยากได้เกลือก็มาตักไปต้มใช้เองได้เลย
เกลือสินเธาว์ที่ได้ ชาวบ้านจะนำไปใช้เอง
ขี่จักรยานเรื่อยๆ มาชม “โรงผลิตเหล้าขาว” ซึ่งเป็นโรงกลั่นสุราแบบวิสาหกิจชุมชน โดยมี ป้าสมพร บุญมีจิว เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งโรงผลิตเหล้าแห่งนี้เป็นเหล้าถูกกฎหมายเพราะขออนุญาตมานานกว่า 14 ปี ที่ตั้งว่า “มิตรชาวนา” ก็เพราะลูกค้ารายสำคัญคือกลุ่มชาวนาในหมู่บ้านนั่นเอง
จุดชมวิวบนเขาโปกโล้น
ปีนป่ายเขาโปกโล้น

ตื่นแต่เช้าออกเวลาตีสี่เพื่อเตรียมตัวไปรับแสงแรกของตะวันกันที่ เขาโปกโล้น ภูเขาที่อยู่ด้านหลังของหมู่บ้าน ซึ่งการขึ้นเขาโปกโล้นต้องให้ไกด์ท้องถิ่นนำทาง ระยะทางเดินประมาณ 2 กม. กว่าๆ จุดที่เดินเท้าขึ้นไปคือแนวหน้าผาหินไกลๆ ที่เป็นแนวหินสีน้ำตาล โดยเราเดินทางกันด้วยรถอีแต๊ก ที่พาเราตะลุยเส้นทางมืดๆ ล่องเลาะไปตามถนนดินลูกรังของผืนนา เกือบเวลากว่าครึ่งชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาถึงตีนเขา ใจพร้อม กายพร้อม กับอาวุธคู่กายอย่างไฟฉายก็ลุยกันเลย
มองเห็นหมอกที่ไหลตั้งแต่หัวบ้านไปท้ายหมู่บ้าน
จุดชมวิวสวยๆ ที่น่ามาเยือน
ทางเดินขึ้นเขาโปกโล้นนั้นไม่ค่อยชันมากแต่ก็มีจุดหวานเสียวเล็กน้อยอยู่เหมือนกัน ตรงหน้าผาหินทางเล็กๆ ที่ต้องใช้การเดินทางอย่างระมัดระวัง โดยใช้เวลาในการเดินกว่าเกือบๆ 1 ชั่วโมง เราก็มาถึงจุดชมวิวบนยอดเขา เขาโปกโล้นแห่งนี้เป็นลานหินแก่ง ที่สามารถมองเห็นวิวของหมู่บ้านได้สุดลูกหูลูกตา และเป็นจุดชมวิวหมอกแห่งใหม่ในจ.พิษณุโลก แต่น่าเสียดายในวันที่เราปีนขึ้นไปกลับมีหมอกให้เห็นลางๆ ไม่เต็มพื้นที่ แต่ถึงแบบนั้นเราก็ได้รับการทดแทนด้วยพระอาทิตย์ที่ทอแสงอย่างช้าๆ และหมอกจางๆ ที่กำลังไหลไปตามทางของหมู่บ้าน ถือว่าคุ้มกับหยาดเหงื่อที่เดินขึ้นมาไม่น้อย
ได้บรรยากาศสวยๆ ไม่เหมือนใคร
ได้มาเยือนสัมผัสนครชุมคราวนี้ นอกจากวิวสวยๆ ของธรรมชาติแล้ว ผู้คนที่นี่ต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ไปมาไหนก็ทักทายเปรียบเสมือนเราเป็นคนในชุมชนอีกคนหนึ่ง ถ้าหากใครชอบการมาท่องเที่ยวแบบลึกซึ้ง ลงไปสัมผัสกับวิถีชุมชน "นครชุม" เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจแห่งใหม่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

นักท่องเที่ยวคนใดสนใจอยากไปเที่ยวนครชุม เข้าพักแบบโฮมเสตย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตาบลนครชุม จังหวัดพิษณุโลก โทร.0 5500 9808, 09 5568 3380 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก โทร.0 5525 2742-3
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น