xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแบบกระดาษทองย่น ตกแต่งพระเมรุมาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่างสิบหมู่นำต้นแบบงานโบราณประยุกต์สร้างลายกระดาษทองย่นแบบ “ร่วมสมัย” ตกแต่งพระเมรุมาศ พิเศษฐานแต่ละชั้นไม่ซ้ำกัน ส่วนท้องไม้เทพชุมนุมใช้ลายก้านต่อดอกก้ามปู - ลายเข้มขาบประจำยามลูกโซ่ ทยอยส่งแบบให้ช่างตอกกระดาษแล้ว ระบุ พระเมรุมาศรวมสุดยอดศิลปกรรมให้คนรุ่นใหม่ศึกษา ต่อยอด ทำให้ศิลปะไม่หยุดนิ่ง

นายอัครพล คล่องบัญชี จิตรกรชำนาญการ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ดำเนินการออกแบบลายกระดาษทองย่นตกแต่งองค์พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและฐานชาลาแต่ละชั้นของพระเมรุมาศ ตนได้ศึกษารูปแบบลายไทยและนำมาประยุกต์ออกแบบกระบวนลายใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น เนื่องจากงานพระเมรุมาศครั้งนี้มีงานศิลปกรรมร่วมสมัยที่หลากหลาย ทั้งจิตรกรรมฉากบังเพลิง ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ขณะนี้ลายตอกกระดาษทองย่นฐานชาลาชั้นที่ 1 และชั้นชาลาที่ 2 รวมถึงลายตอกกระดาษทองย่นเสาหัวเม็ดชั้นชาลาที่ 1 ถึงชั้นชาลาที่ 3 ออกแบบเสร็จแล้ว และทยอยแยกลวดลายแต่ละส่วนในชั้นต่างๆ ให้ช่างในส่วนของผู้รับเหมาไปดำเนินการตอกกระดาษ

ส่วนฐานชาลาชั้นที่ 3 พระเมรุมาศ เป็นฐานท้องไม้มีเทพชุมนุมประดับโดยรอบจำนวน 108 องค์ และเป็นที่ตั้งของซ่างสำหรับพระสวดพระอภิธรรม ลวดลายตอกกระดาษทองย่นช่วงหน้ากระดานบัวปากฐานและหน้ากระดานบัวหงายเป็นลายประจำยามดอกสี่กลีบลูกโซ่กับลายประจำยามก้ามปูใบเทศ ช่วงท้องไม้เป็นลายก้านต่อดอกก้ามปูและลายเข้มขาบประจำยามลูกโซ่ คาดว่าจะออกแบบลวดลายกระดาษทองย่นชั้นที่ 3 เสร็จทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า

นายอัครพล กล่าวต่อว่า สำหรับชุดลายกระดาษทองย่นตกแต่งฐานพระเมรุมาศ มีหน้ากระดานบน บัวหงาย ท้องไม้ ลายแข้งสิงห์ หน้ากระดานล่าง ตรงตามแบบแผนงานสถาปัตยกรรมไทย แต่รายละเอียดภายในลวดลายแต่ละชั้นชาลาตนออกแบบไม่ซ้ำกันแม้จะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ถือว่ามีความหลากหลายของลาย ความยากในการออกแบบครั้งนี้ คือ ข้อจำกัดของขนาดพื้นที่แต่ละส่วน ซึ่งนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน ผู้ออกแบบพระเมรุมาศกำหนดไว้ จะวางตัวลายให้ลงตัว ชัดเจน จบลายอย่างไรให้สวยงาม รวมถึงการออกแบบต้องมีเอ็นของลายเข้ามาประกอบเป็นตัวเชื่อมลายกระดาษทองย่นไม่ให้ขาดจากกัน เช่น ลายกระดาษทองย่นเสาหัวเม็ดชั้น 1 ประกอบด้วย หน้ากระดานถัดขึ้นมาลายบัวคว่ำ ถัดขึ้นมาเป็นท้องเสาลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ลูกโซ่ ยอดเสาเป็นลายบัว ซึ่งเสาหัวเม็ดแต่ละชั้นเป็นทรงสอบขึ้นตามเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย ความยากจะต้องเขียนลายให้สอบขึ้นไปเรื่อยๆ จนพอดี

“ลายกระดาษทองย่นครั้งนี้มีความพิเศษเป็นลายร่วมสมัยเพื่อให้สัมพันธ์กับงานศิลปกรรมและประณีตศิลป์ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบพระเมรุมาศ และอาคารประกอบ ซึ่งมีความร่วมสมัย ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๙ คนไทยได้เห็นงานร่วมสมัยที่มีความหลากหลายมาก พระองค์ทรงสนับสนุนงานศิลปะร่วมสมัย ตนนำแนวคิดนี้มาใช้ออกแบบโดยยึดโครงลายโบราณ เป็นกระบวนการพัฒนาลายตอกกระดาษ นี่คือ เสน่ห์ของลวดลายในงานพระเมรุมาศ เป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่ต่อยอด ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ ไม่ให้หยุดนิ่ง เพราะงานพระเมรุมาศ ถือว่าเป็นการรวมศิลปกรรมสุดยอดทุกอย่างไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษางานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย” นายอัครพล กล่าว

นายอัครพล กล่าวว่า เมื่อออกแบบลายฐานพระเมรุมาศ 3 ชั้นเสร็จแล้ว จะขึ้นลายในส่วนองค์พระเมรุมาศ บุษบกซ่าง บุษบกหอเปลื้อง ตามลำดับ ตนจะใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ส่วนเรื่องการใช้สีกระดาษทองย่นจะมีการหารือเกี่ยวกับโทนสีกับผู้ออกแบบพระเมรุมาศอีกครั้ง ซึ่งภาพรวมโครงสีต้องเข้ากับพระเมรุมาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น