กรมวิทย์วิจัยพบสารสกัดจาก “หม่อน” มีสรรพคุณช่วยกล้ามเนื้อแขน - ต้นขาแข็งแรง ช่วยทรงตัวดีขึ้น ทำจิตใจสงบ ลดอาการซึมเศร้าในกลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ต่อยอดผลิตอาหารเสริมเพื่อสุขภาพได้
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาสมุนไพรไทยและประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สถานการณ์ “สังคมสูงวัย” การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ สมุนไพรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการนำมาใช้เพื่อดูแลสุขภาพ โดยสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งนวัตกรรมที่ได้จากองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและตอบสนองนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ได้ ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยสมุนไพร มีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพสมุนไพรหม่อนในประเทศไทย เนื่องจากมีสรรพคุณหลากหลายตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะส่วนใบ มีรสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ ระงับประสาท หรือต้มเอาน้ำล้างตา แก้ตาแดง แฉะ ฝ้าฟาง
นพ.สุขุม กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากหม่อนแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงการวิจัยทางคลินิก โดยพัฒนาแหล่งเพาะปลูกหม่อนที่สวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice; GAP) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน และทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดหม่อนแคปซูล และ ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่มีสารสกัดจากใบหม่อนเป็นส่วนประกอบ” จากการวิจัยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพนี้มีผลต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของอาสาสมัครวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยเพิ่มสมรรถภาพทางกาย ทำให้กล้ามเนื้อแขน และกล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น เพิ่มสมรรถภาพทางจิต ทำให้มีความสงบมากขึ้น ลดกลุ่มอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล และเพิ่มการเรียนรู้และความจำ ทำให้เพิ่มความจำได้ดี และหลังจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยตามนโยบายของรัฐบาล
“สำหรับแนวทางการยกระดับศักยภาพสมุนไพรสู่นวัตกรรม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์แบบสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกชนิดสมุนไพร การจัดหาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี มีสารสำคัญสูง ทนทานต่อโรคและสิ่งแวดล้อม การปลูกและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม การแปรรูป การควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้วัตถุดิบหรือสารสกัดสมุนไพรที่ดี เพื่อนำไปศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและด้านความปลอดภัยทั้งหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนการบรรจุและเก็บรักษาให้มีคุณภาพดี และมีความคงสภาพตลอดอายุที่ระบุในฉลาก ซึ่งสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีโครงการ “คุณภาพสมุนไพรไทย” เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศให้มีมาตรฐานสากล สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและตอบสนองนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ได้” นพ.สุขุม กล่าว