xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจง “ซิกา” โรคประจำถิ่น พบมากช่วงฤดูฝนแบบไข้เลือดออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. แจงพบผู้ป่วยซิกาพื้นที่ “พิจิตร” 11 ราย ย้ำเป็นโรคประจำถิ่น พบมากช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกับ “ไข้เลือดออก” แต่อาการรุนแรงต่ำ ขอประชาชนช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย ลดการแพร่ระบาดโรค ระบุ ปี 60 พบป่วย 81 ราย ไม่มีเสียชีวิต สถานการณ์ดีกว่าปีก่อน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งดูแล จ.พิจิตร กล่าวถึงกรณีการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่ อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยซิกาในพื้นที่จำนวน 11 ราย ส่วนที่มีข่าวว่าพบอีก 27 รายนั้น ก็ยังไม่ยืนยันเช่นกัน ซึ่งการพบผู้ป่วยล้วนเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับผู้ป่วยคนแรก เนื่องจากต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคซิกามียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่พบในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว ซึ่งไม่แตกต่างจากโรคไข้เลือดออกมากนัก แต่อาการมีความรุนแรงต่ำ ยกเว้นผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อเด็กในท้อง

“สธ. มีมาตรการในการเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ สิ่งสำคัญของการป้องกัน คือ สร้างความตระหนักกับประชาชน ในเรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งที่ผ่านมา สธ. มีการรณรงค์อยู่ ทั้งนี้ โรคซิกาอาจเรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่น พบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะคล้ายกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่พบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงมีจำนวนมาก” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีมาตรการในการควบคุมป้องกัน ตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งของปี 2559 มีการควบคุมโรคที่ดีมาก ซึ่งเมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยของปีที่แล้ว พบว่า ปีนี้ไม่มาก แต่ที่พบผู้ป่วยในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นฤดูฝน ยุงมีจำนวนมากคล้ายกับโรคไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญประชาชนต้องร่วมมือในการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วย มิเช่นนั้น ภาครัฐเองก็เข้าไปช่วยในการดูแลให้ครอบคลุมลำบาก โดยจากการเฝ้าระวังโรคซิกา พบว่า สถานการณ์ในปี 2560 มีผู้ป่วย 81 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น