xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ พิจิตรเรียกประชุมทีมแพทย์ ตั้งวอร์รูมสกัดไวรัสซิการะบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ชาวเมืองชาละวันแตกตื่น ไวรัสซิกาแพร่ระบาดจนคนบึงนารางป่วยแล้ว 11 ราย ต้องสงสัยอีกร่วม 30 แถมมีกลุ่มเสี่ยงอีก 18 ราย หวั่นลูกหลาน-คนตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่ม ผู้ว่าฯ เรียกประชุมทีมแพทย์ด่วน ตั้งวอร์รูมสกัดเต็มที่ เชื่อเอาอยู่


วันนี้ (4 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพบผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่ อ.บึงนาราง จ.พิจิตร จำนวน 11 ราย และมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีก 27 ราย ซึ่งทำให้ประชาชนที่ทราบข่าวแต่เข้าไม่ถึงข้อมูลต่างหวาดวิตกเกรงว่าบุตรหลาน หรือญาติพี่น้องที่ตั้งครรภ์อาจจะติดเชื้อได้

ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เรียกประชุมทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามความคืบหน้า และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ที่มีผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการแล้วว่าพบประชาชนใน อ.บึงนารางป่วยแล้ว 11 ราย ซึ่งเป็นการพบผู้ป่วยเป็นอำเภอแรกของจังหวัดพิจิตรในช่วงฤดูฝนปีนี้

ผู้ว่าฯ พิจิตรได้ประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสั่งการให้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยทั้ง 11 รายที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในที่ประชุมของ สสจ.พิจิตรได้รายงานว่า ยังคงเฝ้าระวังผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวน 18 รายที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีอาการน่าเป็นห่วง ซึ่งทีมแพทย์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลในพื้นที่ก็ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างเลือดส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่ตั้งครรภ์มีโอกาสสุ่มเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ และจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เพราะหากติดเชื้อเด็กที่เกิดมาก็อาจจะมีศีรษะลีบเล็ก กลายเป็นเด็กพิการได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจังหวัดพิจิตรได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นกรณีเร่งด่วน ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรดังนี้

1. เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน Emergency Operation Center (EOC) ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 60 เป็นต้นมา เฝ้าระวังโรคฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้ เวลา 16.00 น.ที่ผ่านมา ผวจ.วีระศักดิ์ พร้อมด้วย รอง ผวจ.ฯ และ นพ.สสจ.ได้ร่วมประชุมผ่านระบบ VCS ประสานสั่งการ รพ. สสอ. และ รพ.สต.ทุกแห่งดำเนินการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น

2. แจ้งเตือนโรงพยาบาลเอกชนและสถานพยาบาลทุกแห่งในการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

3. สร้างการรับรู้แก่ประชาชนในทุกช่องทาง เช่น การประสานฝ่ายปกครองท้องที่ ท้องถิ่น/สถานีวิทยุกระจายเสียงในพื้นที่ และสื่อมวลชน ไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินควร เนื่องจากโรคดังกล่าวเมื่อมีการเฝ้าระวังอย่างทันท่วงทีอาการโดยรวมไม่รุนแรงมากนัก สามารถหายได้ภายในไม่กี่วัน

4. จำกัดการแพร่ระบาดด้วยกระบวนการทางการแพทย์ เช่น พ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ 667 หลังคาเรือน และสำรวจลูกน้ำยุงลาย 422 หลังคาเรือน

5. ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา

6. ดำเนินการเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ ซึ่งยังไม่พบข้อมูลว่ามีการติดเชื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น