พบพระสงฆ์ กทม. และเขตเมืองกว่าครึ่ง เสี่ยงโรคอ้วน เหตุอาหารบิณฑบาต โปรตีนต่ำ - ไขมันสูง ขยับร่างกายน้อย เตรียมคลอด “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ด้าน “พระราชวรมุนี” ชี้ พระเลือกฉันได้อย่างพิจารณา ออกกำลังกายเหมาะสม ไม่ขัดความรู้สึกญาติโยม
วันนี้ (4 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีงานแถลงข่าว “สงฆ์ไทยไกลโรค เข้าพรรษานี้ อย่าลืมตักบาตร ถาม (สุขภาพ) พระ” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สช. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนคำนึงถึงเวลาใส่บาตร คือ ความสะอาด แต่สิ่งที่ควรคำนึงอีกเรื่อง คือ หลักโภชนาการของอาหาร ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ใน กทม. และในภาคอีสานพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างในปี 2560 พบว่า พระสงฆ์ใน กทม. และในเขตเมืองกว่าครึ่ง มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน โดยพระสงฆ์ใน กทม. 48% มีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าชายใน กทม. ซึ่งเสี่ยงอยู่ที่ 39% และชายทั่วประเทศ ที่เสี่ยง 28% ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่สำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง และจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในภาคอีสาน พบว่า พระสงฆ์ในเขตเมืองเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าในเขตนอกเมือง สาเหตุสำคัญมาจากอาหารใส่บาตรที่มีโปรตีนต่ำ หรือได้รับเพียง 60% ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ ปริมาณใยอาหารมีระดับต่ำ จึงชดเชยด้วยการดื่มน้ำปานะที่มีน้ำตาลสูงถึง 7 ช้อนชาต่อวัน
รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า พระสงฆ์ออกกำลังกายน้อย เพราะกลัวผิดพระธรรมวินัย โดยพบว่า ใน 1 วัน พระสงฆ์เดินเบาประมาณ 30 นาที ซึ่งน้อยกว่าชายไทยที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100 นาที พระสงฆ์จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพต่ำ ได้แก่ ขาดการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการตรวจสุขภาพประจำปี และมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ที่ผ่านมา จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกันออกแบบชุดความรู้สงฆ์ไทยไกลโรคในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ โดยเน้นการทำอาหารและการออกกำลังกายสำหรับพระสงฆ์ เช่น การทำอาหารใส่บาตรของประชาชนนั้นคนไทยจะนิยมทำจากกะทิ ซึ่งจะไม่ให้ทำเลยก็ไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีการปรับสูตร คือ กะทิครึ่ง นมครึ่ง โดยสูตรดังกล่าวพบว่า แทบไม่เห็นความแตกต่างจากกะทิล้วนเลย เป็นต้น ซึ่งหลังจากมีการเผยแพร่ออกไปก็พบว่าได้ผลดี สุขภาพดีขึ้น
พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า แม้อาหารบิณฑบาตจะเลือกไม่ได้ แต่สามารถพิจารณาฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายตนได้ โดยพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหารพอสมควร และพระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาส เพราะต้องประพฤติตนสำรวม โดยเฉพาะในละแวกบ้าน หรือเขตชุมชนตามหลักเสขิยวัตร แต่มีหลักกิจวัตร 10 ประการ ที่พระพุทธเจ้าอนุญาต ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกาย เช่น การเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด ทำความสะอาดวัด เดินจงกลม ตัดต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เพื่อขยับร่างกาย รวมถึงแกว่งแขนลดพุงลดโรคซึ่งทำได้ในพื้นที่วัด ในช่วงจำพรรษาจึงอยากให้พระสงฆ์หันมาดูแลสิ่งของภายในวัด ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายในลักษณะการทำความสะอาด ดูแลงานสาธารณูปการในวัด และฉันอย่างพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงกาลเทศะ สถานที่ที่ไม่ขัดต่อความรู้สึกของญาติโยม หรือไม่ให้เกิดข้อครหาต่างๆ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องสุขภาพของพระสงฆ์เป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลให้มหาเถรสมาคม (มส.) มีมตินำเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” เพิ่มเข้าไปในการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือปฏิบัติต่อพระสงฆ์ ฆราวาสและหน่วยบริการสุขภาพ โดย สช. จะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน โดย ส.ค. และ ก.ย. วางแผนจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฯ ก่อนเสนอที่ประชุม มส. เห็นชอบ และประกาศให้ภาคีเครือข่ายรับทราบในสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 ใน ธ.ค. นี้