สสส. ชู “ตลาดเกษตร ม.อ.” ตลาดนัดต้นแบบการจัดการด้านอาหารและโภชนาการ การันตี “ผัก - ผลไม้” ปลอดภัย บูรณาการระบบความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการสมวัย ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร พร้อมยกระดับตลาดเกษตร ม.อ. เป็นตลาดแห่งการเรียนรู้ด้านอาหารปลอดภัย
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่ตลาดเกษตร ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อศึกษาต้นแบบการจัดการตลาดอาหารปลอดภัย โดยเชื่อมโยงระบบความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการสมวัย
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส. สนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี โดยขับเคลื่อนการทำงานภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมและค่านิยมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และมีโภชนาการอย่างเหมาะสม สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันที่จะเลือกผลิต จำหน่าย และบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลัก ลดความเสี่ยงและเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่สมวัยด้วยอาหารสุขภาพและโภชนาการ โดยยึดองค์ประกอบสำคัญ คือ ระบบการผลิต ระบบการกระจาย และระบบการบริโภคอาหาร สำหรับจังหวัดสงขลาถือเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ต้นแบบโครงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระบบอาหารเพื่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สิงหนคร อ.รัตภูมิ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.จะนะ ที่มีความโดดเด่นในการเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย และอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็สนับสนุน ตลาดเกษตร ม.อ. ให้เป็นต้นแบบของแหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และแหล่งให้บริการ ผักผลไม้เพื่อการบริโภคที่ปลอดสารพิษ/ปลอดภัย เนื่องจากตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นแหล่งรองรับผลผลิต ซึ่ง สสส. มีเป้าหมายที่จะสร้างต้นแบบทั่วประเทศเพิ่มอีก 50 แห่งในปี 2560 โดยขณะนี้มีต้นแบบทั่วประเทศแล้วกว่า 100 แห่ง
“ในส่วนของตลาดเกษตร ม.อ. เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สสส. และสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ตั้งแต่ปี 2556 - ปัจจุบัน โดยมีการประสานเครือข่ายนักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นฐานการทำงาน เสริมงานเดิมหรือภารกิจของหน่วยงาน และกลุ่มที่ดำเนินงานอยู่แล้วในพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาให้เกิดชุมชนต้นแบบและการบริหารจัดการต้นแบบเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง ทั้งภาคผลิต ภาคจำหน่าย ภาคผู้บริโภค ตลอดห่วงโซ่อาหาร” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) กล่าวว่า ตลาดเกษตร ม.อ. ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้จำหน่ายจำนวน 183 ร้านค้า โดยตั้งเป้าพัฒนาตลาดเกษตร ม.อ. ให้มีสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างยั่งยืน เน้นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และอาหารที่มีความปลอดภัย เพื่อให้อาหารปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรปลอดภัย มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สามารถย่อยสลายได้ เป็นตลาดปลอดโฟม 100% ไม่ใช้ลวดเย็บกระดาษ เย็บบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหาร ขณะที่ผู้จำหน่ายสินค้าปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารเบื้องต้น 100% รวมทั้งเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี เช่น กิจกรรมแกว่งแขน เต้นประกอบเพลง Chicken Dance ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการออมเงิน และมีการลดปริมาณขยะในตลาดผ่านกิจกรรมธนาคารขยะโดยผู้ประกอบการสามารถแยกขยะที่นำไปกลับมาใช้ใหม่ได้ นำมาขายในกิจกรรมฯ เพื่อสะสมเป็นเงินออม
ผศ.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลาดเกษตร ม.อ. มีแนวทางพัฒนา 5 ด้าน คือ 1. ด้านผู้จำหน่าย มีการพัฒนาศักยภาพผู้จำหน่ายด้วยการจัดอบรมสัมมนา 2. ด้านมาตรฐานการผลิต มีการอบรม สนับสนุนให้ผู้จำหน่ายสินค้า ติดตราสินค้า เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการติดตาม ร้องเรียน เรื่องคุณภาพสินค้า 3. ด้านผู้บริโภค มีการร่วมมือกับนักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ให้มาวิเคราะห์คุณค่าโภชนาการของอาหารที่จำหน่ายในตลาดเกษตร ม.อ. เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงจำนวนแคลอรี่ของอาหารที่จำหน่ายแต่ละชนิด รวมถึงการให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้มาใช้บริการในตลาดเกษตร 4. ด้านสิ่งแวดล้อมลดการใช้ถุงพลาสติก ในตลาดเกษตร ม.อ. โดยการนำตะกร้ามาใช้ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคใส่สินค้าในตะกร้า แทนการใช้ถุงพลาสติกจากแต่ละร้านค้า และเป็นตลาดปลอดการใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร
ด้าน นางวรภัทร ไผ่แก้ว ผู้จัดการตลาดเกษตร ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนายกระดับตลาดเกษตร ม.อ. 3 ระยะ ระยะแรกพัฒนาไปสู่อุทยานอาหารปลอกภัยเพื่อสุขภาพได้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้านการเพาะปลูก การติดตามเฝ้าระวังการใช้สารเคมีในแปลงผลิต การตรวจสอบเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหาร การส่งเสริมการจำหน่ายอาหารที่มีโภชนาการ การขยายเครือข่ายเกษตร ระยะที่ 2 ยกระดับตลาดเกษตร ม.อ. ให้เป็นตลาดแห่งการเรียนรู้ด้านอาหารปลอดภัย การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัย จะมีการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเรื่องการกำจัดแมลงด้วยศัตรูธรรมชาติ เป็นต้น และระยะที่ 3 การพัฒนาระบบตลาดเกษตรครบวงจร (Matching Model) การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเครือข่ายตลาดเกษตร ม.อ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีการผลิตที่เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ตลาดเกษตร ม.อ. เปิดทำการทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 14.30 - 19.30 น. แบ่งเป็น 3 โซน คือ โซนอาหารว่างโซนผักผลไม้และอาหารสุขภาพและโซนอาหารคาวและอาหารทะเล