xs
xsm
sm
md
lg

"ธนะศักดิ์" ตรวจเยี่ยมทำเชือกฉุดชักราชรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาลพร้อมทำหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯประกอบพิธียกฉัตรพระเมรุมาศกลางเดือน ต.ค. นี้ ด้านกรมอู่ทหารเรือจัดทำเชือกซ้อมฉุดชักราชรถเสร็จแล้ว พร้อมส่งให้กรมสรรพาวุธไปฝึกซ้อมกำลังพล ขณะที่ศูนย์มนุษย์นำชาวเขา 4 เผ่าร่วมจัดทำดอกไม้จันทน์ ส่วนสำนักการสังคีตบันทึกกระบวนท่ารำการแสดงโขน จัดทำเป็นซีดีแจก 12 สถาบัน เพื่อใช้เป็นต้นแบบฝึกซ้อม

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่อาคารขยายแบบ โรงงานต่อเรือเหล็ก กองโรงงาน อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดทำเชือกฉุดชักราชรถสำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมี พล.ร.ท.มิ่ง อิ่มวิทยา เจ้ากรมอู่ทหารเรือ ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปภาพรวมการจัดทำเชือกฉุดชักราชรถ ประกอบด้วย เชือกสำรอง ที่ในการซักซ้อมกำลังพล และชุดจริงในงานพระราชพิธีที่จัดทำขึ้นใหม่สำหรับราชรถ 6 องค์ และเกรินบันไดนาค พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมชมและให้กำลังใจซึ่งทุกคนทำอย่างมุ่งมั่น ในขณะนี้การจัดทำเชือกซ้อมเสร็จแล้ว เตรียมส่งให้กับกรมสรรพาวุธทหารบกภายในสัปดาห์นี้ ส่วนเชือกจริงอยู่ระหว่างการจัดทำเชือกสำหรับพระมหาพิชัยราชรถ โดยใช้เชือกมะนิลาแทนเชือกเปอร์ล่อน เนื่องจากองค์ราชรถมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักถึง 14 ตัน

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า เน้นย้ำให้กรมอู่ทหารเรือตรวจสอบการจัดทำห่วงคล้องเชือกและข้อต่อสำหรับรองรับการเชือกฉุกชักราชรถ ซึ่งจะต้องมีความแข็งแรง และทนทาน สามารถรองรับการฉุกชักได้อย่างดี ส่วนการจัดทำเชือกจริงจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. นี้ เมื่อกรมอู่ทหารเรือจัดทำเชือกฉุดชักราชรถเสร็จแล้ว จากนั้นจะจัดทำพิธีบวงสรวงเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดเวลาฤกษ์ที่เป็นสิริมงคล เมื่อทำพิธีบวงสรวงแล้วจะอัญเชิญพระมหาพิชัยราชรถออกจากโรงราชรถเพื่อฝึกซ้อมฉุดชักภายในรั้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จากนั้น รัฐบาลจะทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรพระเมรุมาศ ในช่วงเดือนกลางเดือนตุลาคม หรือตามพระราชอัธยาศัย

ด้าน นางรักชนก โคจรานนท์ ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ทุบกำแพงบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งตรงกับทางเข้าโรงราชรถไปแล้วนั้น ล่าสุด ก็ได้ทำการเลาะอิฐทางเท้าบริเวณด้านหน้าที่ตรงกับประตูโรงราชรถ เพื่อปรับพื้นที่เตรียมการทำประตูรั้วเปิด และปิด จำนวน 2 บาน รวมทั้งจะมีการปรับพื้นดินเพื่อทำถนนสำหรับอัญเชิญพระมหาพิชัยราชรถและราชยาน มาฝึกซ้อมฉุดชัก โดยกำหนดแล้วเสร็จสิ้นเดือน ก.ย. นี้

วันเดียวกัน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) (องค์การมหาชน) เชิญวิทยากร จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษากำแพงเพชร มาให้การอบรมทำดอกไม้จันทน์แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ตามโครงการ 1 ดอกไม้จันทน์ ร้อยดวงใจ ถวายพ่อ นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ศมส. เชิญตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ชนเผ่าปกาเกอะญอ ลาหู่ เมี่ยน และ ม้ง มาฝึกอบรมการทำดอกไม้จันทน์ 2 รูปแบบ ได้แก่ พุทธรักษา และ ดอกดารารัตน์ โดย ศมส. จะร่วมกับเครือข่ายวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จัดวิทยากร ไปให้ความรู้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย รวม 54 กลุ่ม เพื่อให้ผู้นำ และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ นำความรู้กลับไปถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชน ได้ประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เป็นของตนเอง ซึ่งแสดงถึงการร้อยดวงใจ ร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ทุกหมู่เหล่า ใช้สำหรับส่งเสด็จ วันที่ 26 ต.ค. นี้

นายรุ่งธรรม ธรรมปิยนันท์ ศรีวรรธนศิลป์ ครูเชี่ยวชาญ ศูนย์บริรักษ์ไทย แผนกคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อเป็นหน่วยงานถ่ายทอดองค์ความรู้การประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ให้กับหน่วยงานที่สนใจ อีกทั้งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดทำช่อดอกไม้จันทน์ ชื่อ ทิพย์เทวมาลา ซึ่งนำไม้โมก มาใช้เป็นวัสดุหลัก โดยใน 1 ช่อ มีความสูง 39 ซม. ประกอบด้วย ดอกราชาวดี ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ รวม 9 ดอก ดอกแก้ว สื่อความหมายถึงของสูงค่า รวม 9 ดอก ดอกกุหลาบ นวมินทร์ สื่อถึงความรักที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ รวม 9 ดอก แบ่งเป็น ดอกตูม 19 กลีบ ดอกแย้ม 29 กลีบ และ ดอกบาน 39 กลีบ โดยทางวิทยาลัยจะจัดทำรวมทั้งสิ้น 999 ช่อ สำหรับให้บุคคลที่มาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ภายในพื้นที่พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 26 ต.ค. นี้

นางณัฐกาญจน์ รุ่งวรรธนะ ชาวเขาเผ่าเมี่ยน สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพชาวเขา จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้ามาอบรมการทำดอกไม้จันทน์เพื่อใช้ในงานพระราชพิธี ส่งเสด็จในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งสุดท้าย ตนและคนในหมู่บ้านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ทั้งนี้ตนได้มีการรวมกลุ่มชาวเมี่ยนที่อยู่ในพื้นที่ อ.คลองลาน และ อ.เมือง จ. กำแพงเพชร ทั้งหมด 4 ชนเผ่า มาฝึกทำดอกไม้จันทน์ 2 แบบ คือ ดอกพุทธรักษา และ ดอกแก้ว จากนั้น ตนและเพื่อนๆ จะนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้คนในหมู่บ้าน เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีถวายแด่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

วันเดียวกัน ที่โรงละครแห่งชาติ นายเอนก อาจมังกร สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า สำนักการสังคีต ได้จัดการแสดงเพื่อบันทึกกระบวนท่ารำการแสดงโขน ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธี โดยมีครูอาวุโส สำนักการสังคีต ผู้เชี่ยวชาญสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และนักศึกษากว่า 100 คน เป็นผู้แสดงเพื่อบันทึกกระบวนท่ารำ ท่าเต้น กระบวนท่ารบหมู่ รวมทั้งกระบวนท่ารำที่งดงามของตัวละครเอก ตัวประกอบ ทุกท่าจะใช้ในการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ-รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งเป็นการแสดงที่สำคัญที่สุดและจำนวนผู้แสดงมากที่สุด มีกระบวนทัพใหญ่ ซึ่งจะแสดงหน้าพระเมรุมาศ หรือที่เรียกว่า โขนหน้าไฟ รวมถึงเป็นหนึ่งในชุดการแสดงโขนเวทีที่ 1 บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ โดยจะบันทึกกระบวนท่ารำเป็นแผ่นซีดีเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ ใช้เป็นต้นแบบฝึกซ้อม เพื่อให้การแสดงมีความพร้อมเพรียงและสวยงามตามจารีตประเพณี โดยคาดว่าจะแจกจ่ายแผ่นซีดีให้กับสถานศึกษาภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ และจะทำการฝึกซ้อมใหญ่ร่วมกันกลางเดือนตุลาคม ก่อนงานพระราชพิธี













กำลังโหลดความคิดเห็น