ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.รับทราบจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9 วันที่ 25-29 ต.ค. ให้วันที่ 26 ต.ค.เป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิง พร้อมประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ 1 วัน ขณะที่กรมสรรพาวุธทหารบก เริ่มฝึก 20 ครูฝึกพลฉุดชักราชรถ 7 ท่า เพื่อให้กำลังพลปฏิบัติตามแบบถูกต้อง พร้อมเพรียง สง่างาม สมพระเกียรติ เผยริ้วขบวน 2 ใช้กำลังพล 329 นาย เฉพาะพระมหาพิชัยราชรถหนักกว่า 14 ตัน
วานนี้ (25 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมครม.รับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งครม.ได้มีหนังสือเรียนราชเลขาธิการ ขอให้นำผลการประชุมของคณะกรรมการฯ ถวายกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ 1. หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค. 60
2. การจัดทำภาพประดับซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชน โดยเห็นสมควรเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมภาพพระบรมโกศ โดยได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตการบันทึกภาพพระบรมโกศบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
3. การจัดนิทรรศการภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ซึ่งเห็นสมควรกำหนดเป็น 30 วัน ระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย.60 โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมครม. เห็นชอบให้ วันที่ 26 ต.ค.60 เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสนอ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงานพระราชพิธี
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการอำนวยการฯ เสนอให้วันที่ 26 ต.ค.60 เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งทั้งวันที่ 25ต.ค. และ 27ต.ค. ยังไม่มีการกำหนดเป็นวันหยุด ต้องรอให้คณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาต่อไป
โดยกำหนดการในวันที่ 25 ต.ค. 60 จะเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนออกพระเมรุ ในเวลา 17.30 น.
วันที่ 26 ต.ค. 60 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งจะมีพระราชพิธี 3 ช่วง คือ เช้ามืดอัญเชิญพระบรมโกศ ขึ้นพระราชยานเข้าขบวนแห่ไปตรงหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ก่อนเปลี่ยนขึ้นราชรถเชิญไปสู่ท้องสนามหลวง
ช่วงที่สอง คือถวายพระเพลิงในเวลา 17.30 น. และช่วงที่สาม เวลา 22.00 น. เป็นการถวายพระเพลิงจริง
จากนั้นวันที่ 27 ต.ค. 60 เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ ก่อนนำเข้าขบวนกลับพระบรมมหาราชวัง ในเวลา 07.00 น.
วันที่ 28 ต.ค. 60 พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ในเวลา 17.30 น.
และวันที่ 29 ต.ค.60 ช่วงเช้า เป็นการอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นพระวิมาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อนำไปเก็บไว้ในห้องพระ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาล และช่วงเย็น จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร เชิญเข้าขบวนแห่อิสริยยศไปประดิษฐาน ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งจะถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9
***ฝึก 20 ครูฝึกพลฉุดชักราชรถ 7 ท่า***
ที่กรมสรรพาวุธทหารบก พ.อ.เอนก กล่อมจิตร รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกครูฝึกพลฉุดชักราชรถ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า กรมสรรพาวุธทหารบกได้มอบหมายให้โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก รับผิดชอบในส่วนขบวนพระราชอิสริยยศ อัญเชิญพระบรมศพ นับเป็นภารกิจสำคัญและมีเกียรติอย่างยิ่ง การจะทำให้ภารกิจสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมแรง ร่วมใจ ความเสียสละ ความอดทนจากทุกคน ไม่ว่าสภาพอากาศจะร้อน ได้ขอให้ครูฝึกพลฉุดชักราชรถตั้งใจถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้ารับการฝึกให้สามารถปฏิบัติตามท่าฝึกต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แข็งแรง และพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้การปฏิบัติในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพครั้งนี้เป็นไปด้วยความสง่างามและสมพระเกียรติ
พ.ต.สิทธิศักดิ์ ศรีนวลดี สังกัดกองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ (กรสย.) ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ (ศซส.) กรมสรรพาวุธทหารบก ในฐานะหัวหน้าครูฝึกพลฉุดชักราชรถ กล่าวว่า ริ้วขบวนแห่มี 6 ขบวน กรมสรรพาวุธทหารบกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
โดยมีราชรถ 2 องค์ประกอบริ้วขบวน ได้แก่ ราชรถพระนำ และพระมหาพิชัยราชรถ โดยจะใช้กำลังพลฉุดชักราชรถกว่า 300 คนในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สำหรับการฝึกครูพลฉุดชักราชรถ จำนวน 20 คน เพื่อให้รับทราบขั้นตอนและวิธีการฝึกท่าต่างๆ โดยกำหนดฝึกครู 10 วัน เริ่มวันที่ 24 เม.ย. ถึงวันที่ 5 พ.ค.นี้ ซึ่งจะฝึกวันละ 7 ชั่วโมง เพื่อให้มีความรู้และความชำนาญ ทั้งนี้ เมื่อได้รับกำลังพลฉุดชักแล้ว จะวางแผนการฝึก
สำหรับท่าทางที่ใช้ในการฉุดชัก มี 7 ท่า ได้แก่ ท่าตรง ท่าพัก ท่าหันอยู่กับที่ ท่าถวายบังคม ท่าหยิบเชือกและวางเชือก ท่าเดินตามปกติและท่าหยุด และท่าเดินตามจังหวะเพลงพญาโศกลอยลมและท่าหยุด อย่างไรก็ตาม ท่าฝึกเดินอย่างถูกต้องรอความชัดเจนจากกองทัพภาคที่ 1 อีกครั้ง ทั้งนี้ จังหวะการเดินของพลฉุดชักจะต่างจากกองเกียรติยศและทหารนำเล็กน้อย เนื่องจากพระมหาพิชัยราชรถมีน้ำหนักเฉลี่ย 14 ตัน แต่จะเดินเคียงคู่กันไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นริ้วขบวนที่สองจะมีพลฉุดชักรวม 329 นาย แบ่งเป็นพลฉุดชักราชรถน้อยหรือราชรถพระนำ 78 นาย พลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถ 221 นาย กำลังพลเสริม 30 นาย นอกจากนี้ ยังมีส่วนเจ้าหน้าที่ประจำเกรินบันไดนาคอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 1 ชุด ชุดละ 40 นายและอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ จำนวน 40 นาย เพื่อเข้าสู่ริ้วขบวนที่ 3 อัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนราชรถปืนใหญ่เพื่ออัญเชิญเวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ พลสำรองประจำเกรินบันไดนาค 10 นาย ช่างซ่อมฉุกเฉิน 20 นาย