xs
xsm
sm
md
lg

พลัง“ช่าง-จิตอาสา” น้อมทำงานถวายในหลวง ร.9

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


งานจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นการรวมตัวของช่างศิลปกรรมประณีตศิลป์ระดับฝีมือแขนงต่างๆ จากทั่วประเทศ
เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจแก่ช่าง และจิตอาสาทุกคน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี นายวีระโรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร มั่นลงพื้นที่สอบถามการปฏิบัติงาน หากมีปัญหาจะเร่งเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้หมดไป ที่สำคัญมาให้กำลังใจช่าง จิตอาสาอย่างสม่ำเสมอ
...ภาพผู้หญิงกำลังก้มหน้าในมือจับเข็มที่มีด้ายร้อยอยู่ค่อยๆบรรจงปักเข็มลงบนลวดลายผ้าม่านพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งนั่งในอิริยาบถนี้นานนับชั่วโมง เธอคือ นัยนา ศุภพันธุ์ภิญโญ หนึ่งในจิตอาสา เล่าว่า รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติสูงสุดของวงศ์ตระกูลที่มีโอกาสได้ถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 ตนมีทักษะด้านการตัดเย็บ การต่อผ้า ทางสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้ความไว้วางใจได้มอบหมายให้ทำธงงอนประจำราชรถ และผ้าม่านพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งผ้าม่านมีขนาดใหญ่และกระบวนการทำค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้การร่วมแรงร่วมใจของจิตอาสากว่า 10 คน และช่างของสำนักช่างสิบหมู่ทำผ้าม่านที่มีลวดลายประณีตให้ออกมางดงามสมพระเกียรติที่สุด
“ผ้าม่านพระมหาพิชัยราชรถ ต้องใช้ผู้ที่มีทักษะฝีมือหลากหลายด้าน เย็บ ปัก ตัดกระจก และอื่นๆ จิตอาสาแต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานตามที่ตัวเองถนัด ตนถนัดเย็บ ต่อผ้า หากไม่สังเกตจะไม่เห็นรอยต่อเลย จึงได้รับมอบหมายให้เย็บเส้นไหมโลหะตามลวดลาย ทุกครั้งที่ตนนั่งอยู่หน้าผ้าม่าน มือจับเข็มจะค่อยๆ บรรจงเย็บเพื่อให้ลวดลายงดงามที่สุดตามที่ครูช่างสำนักช่างสิบหมู่สาธิตและสอนเคล็ดลับการเย็บ เชื่อว่าจิตอาสาทุกคนต่างทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย นั่งปักกันตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำทุกวัน หวังให้งานออกมาดีที่สุด สมพระเกียรติ ถวายในหลวง ร.9” นางนัยนา กล่าว
อีกมุมหนึ่ง จารุภรณ์ ศรีจันทร์ ครูโรงเรียนโสตศึกษา จ.ขอนแก่น หนึ่งในจิตอาสา กำลังใช้พู่กันจุ่มสีทารูปปั้นเทวดานั่ง เพื่อใช้ประดับพระเมรุมาศ เผยความรู้สึกว่า เธอชื่นชอบงานศิลปะ มีพื้นฐานทาสีมาบ้าง เพราะเคยทาสีโรงเรียน และก่อนเดินทางมาทดสอบฝีมือที่ช่างสิบหมู่ ได้ตั้งจิตอธิฐานขอเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ถวายงาน ในหลวง ร.9 ในที่สุดได้รับมอบหมายให้ทาสีเทวดา ซึ่งการลงสีเทวดาต่างจากทาสีโรงเรียนและงานศิลปะที่เคยทำค่อนข้างมาก เพราะมีลวดลาย มีร่องเล็กร่องน้อย ทว่าด้านข้างมีครูช่างคอยสอนวิธีการลงสีให้เรียบเนียน และสวยงาม การเลือกขนาดพู่กันให้เหมาะกับร่อง ทาสีอย่างไรให้ดูแล้วสีสม่ำเสมอ ไม่เป็นคลื่น ตนปฏิบัติตามคำแนะนำของครูช่าง ซึ่งการลงสีเทวดา นายเฉลียว รักคง นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มจิตรกรรม ครูช่างจะลงสีพร้อมกับจิตอาสาด้วย ส่วนการเขียนใบหน้าเทวดา เขียนลายไทย ครูช่างจะเขียน เพื่อให้เทวดางดงามสมพระเกียรติ
“ในช่วงปิดเทอม ตนได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงสีเทวดา ถวายในหลวง ร.9 รู้สึกภูมิใจมาก จากนี้ไปตนตั้งใจค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ นอกตำรา เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ ” จารุภรณ์ กล่าว
ขณะที่ วิจิตรา เครื่องคำชาวเชียงใหม่ พร้อมเพื่อนจิตอาสาอีก 6 คน ซึ่งมีประสบการด้านแกะสลักไม้คนละ 20-30 ปีโดย วิจิตรา บอกว่า กลุ่มของตนเดินทางมาทดสอบแกะสลักไม้ที่ช่างสิบหมู่ จากประสบการที่สั่งสมมาหลายสิบปี ทำให้ผ่านการทดสอบ และพวกเราได้รับความไว้วางใจให้นำไม้ไปแกะสลักที่บ้านเกิด จ.เชียงใหม่ โดยมีลายกระจังตาอ้อย กระจังเจิม กระจังใบเทศ และลายอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อแกะสลักไม้ได้บางส่วนพวกเราจะถ่ายรูปชิ้นงานให้ครูช่างตรวจสอบผลงานผ่านไลน์เป็นระยะๆ เมื่อชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์จะมีเจ้าหน้าที่ของช่างสิบหมู่ไปรับไม้ที่เชียงใหม่

วิจิตรา บอกว่า ดีใจที่ช่างสิบหมู่ไว้วางใจให้นำขิ้นงานไปทำที่บ้าน เป็นการลดค่าใช้จ่าย คือพวกเราไม่ต้องมาเช่าบ้าน จ่ายค่าเดินทาง อาหารและอื่นๆ ที่สำคัญได้ทำงานถวายในหลวง ร.9
“การเดินทางมาช่างสิบหมู่ พวกเราได้ถวายงานในหลวง ร.9 อย่างที่ตั้งใจไว้ ขณะเดียวกันยังได้ความรู้เกี่ยวกับการแกะสลักไม้และเทคนิคการใช้สิ่วจิกไม้ให้เกิดลวดลายประณีตงดงาม ได้รู้จักลายใหม่ๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดอาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ ของตกแต่งบ้านของพวกเราได้อีกด้วย ต้องขอขอบคุณครูช่าง ที่ถ่ายทอดวิชาให้พวกเรา และจะนำความรู้ไปสอนให้ลูกหลาน หวังสืบสานและอนุรักษ์งานแกะสลักไม้”วิจิตรา กล่าว
...พลังของช่างสิบหมู่ จิตอาสา รวมถึงความเอาใจใส่ของคณะผู้บริหาร ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ส่งผลให้งานจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ วันนี้คืบหน้ากว่ากำหนดไว้



กำลังโหลดความคิดเห็น