xs
xsm
sm
md
lg

“เบญจมาศ-โซลิกแอสเทอร์-เดเลีย” ตกแต่งพระเมรุมาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดอกเบญจมาศ
โครงการหลวงคัดดอกไม้สีเหลืองทนร้อน 3 ชนิด “เบญจมาศ - โซลิกแอสเทอร์ - เดเลีย” ตกแต่งพระเมรุมาศ “ประภัสสร” เผยใช้เบญจมาศเป็นหลัก สื่อสมบัติล้ำค่า ในหลวง ร.๙ เปลี่ยนแดนฝิ่นเป็นเมืองไม้ดอก พร้อมเร่งเพาะต้นพันธุ์ 9,000 กระถาง ชักชวนเกษตรกร - ชาวเขา เพาะเลี้ยงให้ออกดอกสะพรั่งช่วงพระราชพิธี

ดร.ประภัสสร อารยะกิจเจริญชัย นักวิชาการไม้ดอก มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวถึงความคืบหน้างานภูมิสถาปัตยกรรม พันธุ์ไม้ตกแต่งพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า กรมศิลปากร ได้ประสานและขอความอนุเคราะห์จากโครงการหลวง โดย ม.จ.ภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมจัดส่งไม้ดอกไม้ประดับที่มีสีเหลืองสำหรับตกแต่งพระเมรุมาศในเขตรั้วราชวัติ ทั้งนี้ ทางโครงการหลวงได้คัดเลือกไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวกว่า 10 ชนิด ที่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูก เช่น กุหลาบ เบญจมาศ เยอร์บีร่า ลิ้นมังกร คาร่าลิลลี่ เดเลีย คาร์เนชั่น เป็นต้นซึ่งเป็นทั้งไม้ตัดดอกและไม้กระถาง โดยพิจารณาถึงรูปแบบการใช้งานในพระราชพิธีครั้งนี้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ดอกไม้ที่ทนกับสภาพอากาศร้อนของกรุงเทพฯได้ เนื่องจากต้องจัดแสดงอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ขณะที่ดอกไม้ของโครงการหลวงเป็นดอกไม้เมืองหนาว ด้วยเหตุนี้จึงคัดเลือกดอกไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ต้องนำไปตกแต่งให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังจากหารือร่วมกันก็สรุปดอกไม้ที่โครงการหลวงเลือกใช้มี 3 ชนิด ได้แก่ เบญจมาศ โซลิกแอสเทอร์ และเดเลีย โดยเลือกพันธุ์ที่เป็นไม้กระถาง จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
ดอกเดเลีย
ดร.ประภัสสร กล่าวว่า สำหรับการเลือกเบญจมาศเป็นดอกไม้หลักเพื่อประดับตกแต่งพระเมรุมาศนั้นเพื่อเสริมให้พระเมรุมาศมีความสวยงามและสง่างามมากที่สุด นอกจากนี้ ดอกเบญจมาศยังสื่อถึงสมบัติอันล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้ให้กับเกษตรกรชาวเขาบนพื้นที่สูง โดยนับตั้งแต่ปี 2512 โครงการหลวงได้เริ่มดำเนินงานวิจัยไม้ดอกชนิดต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศ ทำให้ได้พันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับการปลูกบนพื้นที่สูง ซึ่งรวมถึงเบญจมาศ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงานวิจัยไม้ดอกอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้น มีการก่อตั้งสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก นับจากปี 2527 จนถึงปัจจุบัน ที่โครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเบญจมาศและมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันโครงการหลวงมีเกษตรกรภายใต้การดูแลที่ปลูกเบญจมาศเป็นอาชีพกว่า 150 ราย ซี่งสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 9 ล้านบาทต่อปี

ดร.ประภัสสร กล่าวต่อว่า สำหรับเบญจมาศกระถางที่ได้จัดเตรียมไว้มีทั้งสิ้น 6 พันธุ์ เป็นกลุ่มไม้กระถางที่มีทรงต้นกะทัดรัด 4 พันธุ์ และกลุ่มที่มีต้นสูง 2 พันธุ์ ซึ่งในส่วนของต้นพันธุ์นั้นทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยเร่งทำต้นพันธุ์เพื่อปักชำและขยายพันธุ์ในกระถางให้ได้จำนวนต้นตามที่ต้องการภายในเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อให้ทรงพุ่มเต็มกระถางขนาด 6 นิ้ว โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จนกระทั่งออกดอก ซึ่งจะตรงกับช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ส่วนเดเลียเป็นดอกไม้อีกชนิดที่ใช้ประดับตกแต่ง เพราะมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งเรื่องรูปทรงของดอกและสีสันที่สะดุดตา มี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ Gallery Cezanne และพันธุ์ Figaro Yellow สองพันธุ์นี้มีความโดดเด่นเรื่องลักษณะทรงต้นเป็นพุ่มกะทัดรัด มีดอกดก กลีบดอกหนาทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้ดี โดยพันธุ์ Gallery Cezanne จะใช้วิธีปักชำเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนต้นตามที่ต้องการ โดยจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับตั้งแต่เป็นกิ่งชำ จนกระทั่งออกดอกสีเหลืองเข้ม ส่วนอีกพันธุ์ Figaro Yellow จะนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศอังกฤษ โดยจะใช้เวลาเพาะจากเมล็ดจนกระทั่งออกดอกรวม 70-75 วัน ขณะนี้ต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ทางสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์เตรียมพร้อมไว้แล้ว และจะส่งมอบให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงตามกำหนดเวลาที่วางไว้ เพื่อให้ออกดอกตรงกับงานพระราชพิธี

สำหรับโซลิกแอสเทอร์ ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกจะเป็นผู้รับผิดชอบในการปลูก โดยโซลิกแอสเทอร์เป็นลูกผสมข้ามระหว่างสร้อยทองกับแอสเทอร์ มีลักษณะดอกเป็นช่อ แตกกิ่งแขนงค่อนข้าง ดอกไม้สีเหลืองขนาดเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่ช่อดอกจะแน่นมีสีเหลืองคล้ายสีทองคำจะงดงามมาก และที่สำคัญทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี โดยจะใช้เวลาประมาณ 60 - 90 วัน นับตั้งแต่กิ่งชำจนออกดอก โดยทั้ง 3 ชนิด จะทำต้นพันธุ์เป็นรุ่นๆ เพื่อสำรองไว้หากช่วงพระราชพิธีมีพันธุ์ไม้เสียหาย ทั้งนี้ กรมศิลปากรประสานขอนักวิชาการด้านไม้ดอกให้คำแนะนำเมื่อมีการตกแต่งไม้ดอกในพื้นที่จริงด้วย เช่นเดียวกับทีมนักวิชาการได้ลงพื้นที่แนะนำเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงเตรียมผลิตดอกไม้ร่วมพระราชพิธี

“ดอกไม้ทั้งสามชนิดที่จัดเตรียมไว้จำนวน 9,000 กระถาง มีกำหนดจัดส่งร่วมประดับตกแต่งพระเมรุมาศพื้นที่จริงกลางเดือนตุลาคมนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเกษตรกรต่างร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้ไม้ดอกไม้ประดับบานสะพรั่งงดงามพร้อมใช้ตกแต่งพระเมรุมาศเพื่อส่งเสด็จพระองค์ อย่างสมพระเกียรติ ในหลวง ร.๙ ได้ทรงพระราชทานโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ปี 2512 ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาท้องถิ่นทุรกันดาน โดยเฉพาะบนพื้นที่สูง ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า รวมถึงการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย โดยให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผัก ดอกไม้เมืองหนาว สร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่นควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งพวกเราชาวโครงการหลวงและเกษตรกรชาวเขายังคงน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ขณะนี้นักวิจัยกำลังปรับปรุงพันธ์เบญจมาศเพื่อให้ได้พันธุ์โครงการหลวงหวังลดค่าใช้จ่ายค่าลิขสิทธิ์สายพันธุ์จากต่างประเทศและมีสายพันธุ์ต้านทานโรคเพื่อแจกจ่ายให้ชาวไทยภูเขาปลูกภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ดร.ประภัสสร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น