จิตแพทย์ชี้ ครูตักเตือน “นักเรียน” หน้าเสาธงไม่เชิงผิด แต่ขอให้ยึดหลัก “ชมในที่แจ้ง ต่อว่าในที่ลับ” ย้ำต้องตักเตือนด้วยความเป็นห่วง อธิบายให้เข้าใจถึงกฎกติกาที่ตั้งไว้เมื่อกระทำความผิด
จากกรณีนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน อ.แกลง จ.ระยอง กระโดดตึกอาคารเรียนฆ่าตัวตาย โดยผู้ปกครองออกมาเปิดเผยว่า โรงเรียนมีการประจานนักเรียนคนดังกล่าวบริเวณหน้าเสาธงว่าได้ขโมยเงินเพื่อน จึงอาจเป็นสาเหตุให้เด็กอับอายและคิดสั้น ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงวิธีการลงโทษของโรงเรียน ว่า แค่ไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่เป็นเพียงการตักเตือนเท่านั้น และไม่ได้พูดชื่อเด็กนักเรียนที่ทำผิด
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การจะทำโทษเมื่อเด็กกระทำความผิดนั้น เริ่มแรกเราต้องมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนเสียก่อนว่า หากกระทำความผิดเช่นนี้ จะได้รับการลงโทษอย่างไร ให้เขารู้ว่าจะต้องโดนลงโทษอย่างไรถ้าทำผิด อีกทั้งหากจะตักเตือนในการกระทำผิดนั้นควรตักเตือนด้วยความเป็นห่วง อธิบายให้เข้าใจว่า กฎที่ตั้งไว้คืออะไร จำเป็นต้องลงโทษอย่างไร
เมื่อถามว่า การที่โรงเรียนออกมาพูดตักเตือนหน้าเสาธงนั้นผิดหรือไม่ พญ.วิมลรัตน์ กล่าวว่า จะว่าผิดเสียทีเดียวก็ไม่ใช่ ต้องดูว่ากฎของโรงเรียนเป็นอย่างไร บางโรงเรียนอาจจะทำเช่นนี้มาตลอดเป็นกฎที่ตั้งไว้ แต่ตามหลักสากลแล้วจะเหมือนเช่นคำพูดที่ว่า “ชมในที่แจ้ง ต่อว่าในที่ลับ” คือ ควรจะว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเป็นห่วงในที่ลับมากกว่า ส่วนกรณีที่ว่าเด็กอาจจะมีสภาพจิตใจอ่อนแออยู่แล้วหรือไม่จึงเกิดการคิดสั้นทันทีที่ถูกจับได้ว่ากระทำความผิด ไม่สามารถบอกได้เพราะไม่ได้ตรวจสุขภาพจิตเด็กคนนั้น เป็นไปได้ว่าอาจจะมีสภาพจิตใจที่อ่อนแออยู่แล้ว หรือทำลงไปเพราะต้องการประชดประชัด
“สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเมื่อลูกกระทำความผิดนั้นคือ การตักเตือนด้วยความห่วงใยตรงๆ ให้บอกเหตุผลว่าทำไมการกระทำนั้นจึงผิด ส่งผลไม่ดีอย่างไร ไม่ควรบ่นด่า เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เด็กเข้าใจแล้วยังทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเสียใจอีกด้วย เพียงแค่พลิกคำพูดนิดเดียวความรู้สึกก็เปลี่ยนได้” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว