xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีเงิน-กลัวถูกส่ง ตร.“ต่างด้าว” ยอมคลอดแล้วทิ้ง!! นักสิทธิฯ จี้ สธ.บังคับ รพ.ขายบัตรประกันสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักสิทธิมนุษยชน คลี่เหตุ “หญิงต่างด้าว” คลอดแล้วทิ้งลูก เหตุไม่มีเงินจ่าย กลัวถูกจับส่งตำรวจ ย้ำไม่จ่ายได้ถือเป็น “หนี้ทางแพ่ง” ชี้ทางออกทำ “บัตรประกันสุขภาพต่างด้าว” ช่วยเข้าถึงบริการ ลดต้นทุน รพ. จี้ สธ. บังคับ รพ. ขายบัตรฯ หากไม่ขายถือว่ามีความผิดพ่วงละเมิดสิทธิ หลังพบ รพ. 49 จังหวัดประกาศชัดไม่ขาย

จากกรณีแรงงานข้ามชาติคลอดลูกที่ รพ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต แต่ภายหลังกลับทิ้งลูกไว้ ทำให้กลายเป็นภาระแก่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล

วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ในงานเสวนา เด็กไร้สัญชาติพุ่ง ลูกแรงงานข้ามชาติถูกทิ้งคา รพ. เหตุไม่มีเงินจ่ายค่าคลอด นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิช่วยเหลือสังคมเพื่อเด็กและสตรี อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า จริงๆ แล้วแม่ทุกคนรักลูก แต่เหตุใดแรงงานหญิงข้ามชาติคลอดแล้วทิ้งลูกต้องศึกษา มิเช่นนั้น จะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่เท่าที่ทำงานด้านนี้ พบว่า หลักๆ มาจาก 1. เรื่องเงิน คือ ไม่มีเงินค่ารักษา เพราะสถานพยาบาลสร้างภาระให้เขารู้ว่า ต้องจ่ายเงิน 2. หลายโรงพยาบาลร่วมมือกับตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หากไม่จ่ายก็จะตามมาจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อไม่มีเงินจ่ายก็กลัวจึงหนี หากเอาลูกไปลูกก็ตายจึงทิ้งลูกไว้ 3. ที่ทำงานไม่เอื้ออำนวยในการเลี้ยงดูเด็ก และ 4. สุขภาพของเด็กที่คลอดออกมา เพราะเคยพบว่า หญิงต่างด้าวคลอดลูกแฝดยอมทิ้งลูกที่ดูอาการร่อแร่ไว้ ยอมเอาลูกที่ดูสุขภาพดีกว่าหนีไปเพียงคนเดียว เป็นต้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการเงินนั้น หากโรงพยาบาลมีการสื่อสารให้คนกลุ่มนี้เข้าใจว่า หากไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลจริงๆ ถือเป็นหนี้ทางแพ่ง ตำรวจไม่จับ ไม่ติดคุก อาจทำให้ปัญหาการทิ้งลูกลดน้อยลงก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้จ่ายค่ารักษาเลย แต่หากมีก็ควรทยอยผ่อนจ่ายแทน แต่ทางออกที่สำคัญ คือ การทำให้แรงงานข้ามชาติซื้อบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย บัตรประกันฯ อยู่ที่คนละ 1,600 บาทต่อคนต่อปี เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ อยู่ที่ 365 บาทต่อคนต่อปี หรือหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย ก็ยังเปิดให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพฯ อย่างเดียวราคา 2,200 บาท ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลต่างๆ ที่จำเป็นเบื้องต้น ซึ่งไม่เพียงช่วยการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณของโรงพยาบาลด้วย

“ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวใช้สิทธิรักษาพยาบาลประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี มีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ขึ้นทะเบียนรวมกับคนไทยที่รัฐต้องสงเคราะห์ฟรีอีก 300 ล้านบาท รวมแล้วปีหนึ่งรัฐต้องอุ้มคนกลุ่มนี้ประมาณ 900 ล้านบาท แต่ถามว่ารัฐขาดทุนจริงหรือไม่ เมื่อคำนวณแล้วบัตรประกันสุขภาพฯ 1,600 บาท หากแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน 1 ล้านคน อย่างที่รัฐโชว์ผลงาน ภาพรวมเท่ากับโรงพยาบาลจะมีเงินต่อปีมากถึง 1.6 พันล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายจริงอยู่ที่ 900 ล้านบาท แต่บางพื้นที่อาจประสบปัญหาขึ้นทะเบียนน้อย เช่น ภูเก็ต ทำให้เกิดการขาดทุนได้ ที่สำคัญ ส่วนใหญ่คนต่างด้าวก็เหมือนคนไทย หากไม่เจ็บป่วยหนักมากก็จะไม่ค่อยมาหาหมออยู่แล้ว ดังนั้น ต้องประชาสัมพันธ์ให้เกิดการซื้อบัตรประกันสุขภาพฯ เพิ่มมากขึ้น” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาการซื้อบัตรประกันสุขภาพฯ น้อย มาจากความไม่เข้าใจของ ผอ.รพ. บางพื้นที่ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงเสนอว่า สธ. ควรทำหนังสือเวียนถึงทุกโรงพยาบาลให้ชัดเจนว่า ให้ขายบัตรประกันสุขภาพฯ รพ. ไหนไม่ขายถือว่ามีความผิด และยังถือเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ หากยังมีปัญหาอยากให้ คสช. ใช้เป็นคำสั่ง ม.44 เลยว่าต้องดำเนินการ เพราะเรื่องนี้ก็ถือเป็นนโยบายของรัฐอยู่แล้วด้วย ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองเด็กที่ถูกทิ้ง ก็ต้องทำงานใกล้ชิด รพ. มากขึ้น เด็กถูกทิ้งจะรับไปดูอย่างไร เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ เติบโตขึ้นระดับหนึ่งมีครอบครัวอุปถัมภ์หรือไม่ ซึ่งคนไทยที่ไม่มีลูก แต่อยากมีลูกบุญธรรมก็มีเป็นจำนวนมาก

นายภาคภูมิ แสวงคำ เจ้าหน้าที่วิชาการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า สถานการณ์หญิงแรงงานข้ามชาติมาคลอดลูกและทอดทิ้งเด็กยอมรับว่ามี แต่ไม่ได้มีมากอย่างที่คิด เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนพุทธยังคิดเรื่องของบุญบาป ส่วนปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่ซื้อบัตรประกันสุขภาพฯ หากวิเคราะห์คือ 1. แรงงาน เมื่อดูจากค่าใช้จ่าย 3,200 บาทต่อ 2 ปี ถือว่าไม่แพงมาก เด็กไม่เกิน 7 ปี 365 บาท ราคารับได้ แต่หากพ่อแม่มีลูกหลายคนก็จะภาระมากขึ้น 2. นโยบาย ถือว่ายังมีปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่อยู่แค่ในเมืองจังหวัดใหญ่ๆ และในเว็บไซต์ แต่เข้าไม่ถึงพื้นที่กลุ่มเกษตรกรรมที่อยู่บนภูเขา หรือแถบชายแดน ที่ต้องเดินทางเข้ามาในตัวอำเภอ หรือจังหวัด และอาจต้องผ่านนายหน้าทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงไม่ทราบว่า ซื้อแล้วใช้ได้กับโรคอะไรได้บ้าง และ 3.สถานพยาบาล ยังพบปัญหาหลายเรื่อง เช่น สำรวจพบโรงพยาบาลถึง 49 จังหวัด ที่ตัดสินใจไม่ขายประกันสุขภาพให้แรงงานที่ตั้งครรภ์ ติดเชื้อเอชไอวี บางแห่งประกาศนโยบายต้องมาซื้อ 50 คนต่อโรงงานเพื่อความคุ้มทุน บางโรงเรียกเอกสารเกินจำเป็น ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำบัตรได้ ทั้งที่มีกำลังจ่าย

นายภาคภูมิ กล่าวว่า การป้องกันปัญหานี้ที่ดีที่สุด คือ การให้ความรู้ ซึ่งสาธารณสุขของไทยและ 4 ประเทศต้นทางแรงงานข้ามชาติ ก็มีการประชุมหารือร่วมกันในเรื่องยุทธศาสตร์สาธารณสุขข้ามชาติ สาธารณสุขชายแดน ทำสื่อความรู้ภาษาที่เขาเข้าใจ อบรมให้มีความรู้ ว่า การวางแผนครอบครัว การมีลูก และการยุติตั้งครรภ์เป็นสิทธิ แต่การตัดสินใจต้องมีฐานข้อมูลความรู้ให้ตัวเองปลอดภัยไม่เป็นภาระต่อตัวเองและครอบครัว ซึ่งหลายหน่วยงานก็พยายามทำร่วมกัน ทั้งเอ็นจีโอไทย องค์การอนามัยโลก หรือแม้แต่ยูนิเซฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น