xs
xsm
sm
md
lg

อย.ตั้ง “ด่านเครื่องสำอาง” สกัดแม่ค้าลักลอบ “หิ้วสินค้า” เลี่ยงภาษีนำเข้า ยันไม่กระทบซื้อมาใช้เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย. เผยตั้ง “ด่านเครื่องสำอาง” หวังสกัดพ่อค้าแม่ขายแอบหิ้ว “เครื่องสำอาง” หลบเลี่ยงภาษี ไม่ยื่นจดแจ้ง พร้อมตรวจสอบผสมสารต้องห้ามหรือไม่ ย้ำ นำเข้าเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้ง - ขออนุญาตนำเข้า ยันไม่เกี่ยวข้องกลุ่มซื้อมาใช้เอง หรือถูกฝากซื้อ แต่เตือนซื้อมากเกินไปเสี่ยงถูกตรวจสอบได้

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง พ.ศ. 2559 ตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้ด่านอาหารและยาจำนวน 44 ด่าน ของ อย. ทำหน้าที่เป็นด่านตรวจสอบเครื่องสำอางด้วย โดยมีผลในวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ตามปกติแล้วการนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย จะต้องยื่นคำขอจดแจ้งเครื่องสำอางและขออนุญาตนำเข้าจาก อย. ก่อน ซึ่งเมื่อผ่านแล้วก็สามารถนำเข้าเครื่องสำอางได้ทันที และมาเสียภาษีกับกรมศุลากร แต่ปัญหาคือ ผู้ประกอบการบางรายนิยมหิ้วเครื่องสำอางเข้ามาแบบหลบเลี่ยงการเสียภาษี โดยทำเหมือนว่านำเข้ามาเพื่อใช้เอง ซึ่งมีทั้งวิธีการกระจายสินค้าแบ่งให้คนอื่นช่วยนำเข้ามา หรือบรรจุในกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมักพบปัญหาเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารต้องห้ามที่เป็นอันตรายด้วย จึงมีการออกประกาศเพื่อให้อำนาจด่าน อย. สามารถตรวจสอบเครื่องสำอางที่นำเข้ามาได้

“มาตรการนี้ถือเป็นหนึ่งในมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อไม่ให้มีการนำเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยจะมีการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร ในการให้ด่านศุลกากรช่วยตรวจสอบว่ามีการนำเข้าเครื่องสำอางในลักษณะหิ้วเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีหรือไม่ และจะมีการประสาน อย. ในการมาตรวจสอบว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีสารต้องห้ามตามที่ อย. ประกาศหรือไม่ หากเป็นผลิตภัณฑ์ต้องห้ามก็จะยึดทันที ส่วนการลงโทษจะขึ้นอยู่กับสารต้องห้ามแต่ละชนิด ซึ่งโทษจะแตกต่างกันไป อย่างถ้าเป็นกลุ่มสารเสพติดก็มีโทษจำคุก เป็นต้น แต่หากไม่มีสารต้องห้ามก็สามารถนำเข้ามาได้ แต่จะเสียภาษีหรือไม่อยู่ที่ด่านศุลกากรพิจารณาว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อขายหรือไม่ ซึ่งด่านศุลกากรก็จะมีเกณฑ์พิจารณาอยู่” เลขาธิการ อย. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนไทยนิยมซื้อเครื่องสำอางจากต่างประเทศ เพราะราคาถูก และมีการฝากซื้อเข้ามาจำนวนมากจะถือว่าเข้าข่ายนำเข้ามาเพื่อขายด้วยหรือไม่ นพ.วันชัย กล่าวว่า ก่อนอื่นยืนยันว่า มาตรการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป ที่หิ้วเครื่องสำอางเข้ามาเพื่อใช้เองอยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นจำนวนไม่มาก เช่น 2 - 3 ขวด ก็หิ้วเข้ามาได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่หากหิ้วเข้ามามากเกินไปก็อาจมีความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการนำเข้าเพื่อมาจำหน่ายหรือไม่ ซึ่งศุลกากรจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ เช่น ลิปสติกนำเข้ามาคราวละเป็น 100 แท่ง ก็คงไม่น่าจะเป็นการใช้เพื่อส่วนตัว เป็นต้น โดยหากถูกตรวจสอบผู้นำเข้ามาก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าเป็นการนำมาใช้ส่วนตัวหรือไม่อย่างไร แต่หากพบว่านำเข้ามาเพื่อประกอบธุรกิจก็ต้องเสียภาษีตามระเบียบ

นพ.วันชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการลักลอบการหิ้วเครื่องสำอางเข้ามาได้ เนื่องจากทำให้คนที่หิ้วเครื่องสำอางที่มองว่านำเข้ามาง่ายทราบว่าจากนี้จะนำเข้ามายากขึ้น เพราะถูกตรวจสอบก่อน ที่สำคัญ ยังช่วยป้องกันตั้งแต่ต้นทางก่อนที่จะนำเครื่องสำอางที่มีสารต้องห้ามไปขาย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบการขายทางอินเทอร์เน็ต โดยพบว่ามีการร้องเรียนเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงกลุ่มเครื่องสำอางด้วย เดือนละไม่ต่ำกว่า 100 ราย อย่างไรก็ตาม หากยังพบการขายอยู่ อย. ก็มีการทำงานร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการตรวจจับอยู่แล้ว

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมฯ มีการตรวจเครื่องสำอางทั้งที่นำเข้าและหลังการวางจำหน่ายเป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อตรวจสอบว่ามีสารต้องห้ามหรือการปนเปื้อนของเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ สำหรับการตั้งด่านตรวจเครื่องสำอางในด่าน อย. นั้น หากพบความผิดปกติแล้วต้องการตรวจสอบ อย. ก็จะรวบรวมผลิตภัณฑ์ส่งกรมวิทยาศาสตร์ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ภายใน 1 วัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ไม่เกิดการกักเก็บสินค้าไว้นานจนเกินไป จนกระทบต่อผู้ประกอบการ
กำลังโหลดความคิดเห็น