xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์แฉ “เครื่องสำอาง” ไร้ยี่ห้อ-ของเลียนแบบ ผสมสาร “สเตียรอยด์” ฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิมถึง 10% ทำหน้าแตกลายงา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ เผย ผลตรวจ “เครื่องสำอาง” พบกลุ่มครีมหน้าขาว หน้าเด้ง ลอบผสมสารห้ามใช้ 30% ชี้ ปี 59 พบแนวโน้มผสมสารสเตียรอยด์กลุ่มฤทธิ์รุนแรงถึง 10% พบในกลุ่มไม่มียี่ห้อ กลุ่มเลียนแบบ ขณะที่การปนเปื้อนเชื้อพบ 2 - 3% แนะวิธีเลือกซื้อเครื่องสำอางที่ปลอดภัย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการดำเนินการตรวจมาตรฐานของเครื่องสำอางที่มีการจำหน่ายในประเทศไทย พบว่า เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าเด้ง ครีมหน้าขาว โดยพบว่ามีการผสมสารอันตรายห้ามใช้ เช่น สารไฮโดรควิโนน สารปรอท สารสเตียรอยด์ เป็นต้น ซึ่งพบประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้ สารอันตรายดังกล่าวมักมีผลทำให้หน้าขาวไว ทันใจกลุ่มสาวๆ ที่อยากหน้าขาวโดยไว แต่สุดท้ายแล้วส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่ต้องสั่งใช้โดยแพทย์เท่านั้น โดยปกติมักจะใช้ไม่เกิน 7 วันก็จะหยุด ดังนั้น เมื่อใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน จะทำให้หน้าบางลง และเมื่อใช้เกิน 2 - 4 สัปดาห์ขึ้นไป จะส่งผลให้ผิวแตกลายงาได้ ซึ่งถือว่าไม่คุ้มกับความขาวเพียงวันนี้ แต่หน้าพังถาวร นอกจากนี้ สารสเตียรอยด์ยังมีโอกาสซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้กระดูกกร่อน รวมไปถึงจะเข้าไปกดภูมิต้านทานในร่างกาย ทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

“ที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อมีการตรวจจับเครื่องสำอางที่ผสมสารอันตราย ก็มักจะมีการนำสารใหม่ๆ ที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าเดิมมาใช้แทนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างสารกลุ่มสเตียรอยด์ก็พบว่ามีการใช้สเตียรอยด์ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์แรงมากขึ้น โดยในปี 2559 จากการตรวจเครื่องสำอางทั้งจากตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า การขายตรง การขายผ่านระบบออนไลน์ และตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งมาให้ตรวจ พบว่า สารสเตียรอยด์ที่ลักลอบผสมกลายเป็นตัวที่แรงขึ้น คือ “คลอเบทาซอล โพรไพโอเนท (Clobetasol propionate)” พบมากประมาณ 10% ถือเป็นการพบครั้งแรก ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่ไม่เป็นที่รู้จัก ผลิตภัณฑ์เลียนแบบ ดังนั้น ในปี 2560 กรมฯ จะตรวจหาสารสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และจะมีการพัฒนาวิธีการตรวจเพื่อรองรับการลักลอบนำสารใหม่ๆ ที่มีฤทธิ์รุนแรงมาผสมให้ได้ด้วย” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า การตรวจสอบเครื่องสำอางจะสุ่มตรวจหมดทั้งมีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ เพื่อติดตามว่าได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยหรือไม่ เพราะอย่างเครื่องสำอางระดับเคาน์เตอร์แบรนด์ที่มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย แต่หากการจัดเก็บไม่ดี การขนส่งไม่ดี ก็อาจเกิดการปนเปื้อนเชื้อได้เช่นกัน ซึ่งจากการตรวจติดตามการปนเปื้อนของเชื้อโรคและโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารหนู ในกลุ่มเครื่องสำอาง ทั้งครีมทาหน้า อายไลเนอร์ อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว พบว่า มีการปนเปื้อนบ้างไม่มากประมาณ 2 - 3% เท่านั้น สำหรับการเลือกซื้อเครื่องสำอาง ขอแนะนำว่า ให้สังเกตทางกายภาพภายนอกของผลิตภัณฑ์ก่อน ว่า มีฉลากระบุชื่อ ส่วนผสม ที่ตั้งผู้ผลิตผู้จำหน่ายผู้นำเข้าหรือไม่ โดยหากเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีแหล่งที่มาไม่ควรซื้อ นอกจากนี้ ให้สังเกตเนื้อครีมหากพบว่ามีการแยกชั้นเป็นตะกอน จับเป็นก้อน สีเปลี่ยน หรือส่งกลิ่นผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงทันที หากผลิตภัณฑ์เป็นปกติดีก่อนซื้อก็ควรมีการทดสอบก่อน โดยอาจทาบริเวณใต้ท้องแขนทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง เพื่อดูว่ามีการแพ้หรือไม่ นอกจากนี้ ควรสังเกตสารที่เป็นส่วนผสมด้วยว่ามีสารที่ตนเองเคยมีประวัติแพ้หรือไม่ และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก อย. แล้ว รวมถึงหลีกเลี่ยงการทาบริเวณที่อักเสบ เพราะอาจทำให้แพ้รุนแรงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น