เมื่อวันที่ 2 มกราคม ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กรณีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ว่า นับเป็นความก้าวหน้าของวิทยาการด้านการป้องกันโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศเมืองร้อนที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกนี้เป็นความร่วมมือของ 13 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และการที่วัคซีนดังกล่าวนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. แสดงว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยกับประชาชน เมื่อใช้ตามที่กำหนดในเอกสารกำกับ
ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อว่า ข้อบ่งใช้สำหรับวัคซีนดังกล่าวจะใช้ในกลุ่มอายุ 9 - 45 ปี ต้องฉีด 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6 เดือน ใช้เวลา 1 ปี จึงจะครบชุด ผู้ที่จะรับวัคซีนนี้ต้องให้แพทย์สั่ง ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ตามใบกำกับยาเป็นรายบุคคล จะใช้นอกเหนือจากใบกำกับไม่ได้ อีกทั้งผู้รับบริการยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ดังนั้น ผู้รับบริการ หรือผู้ปกครอง จะต้องไตร่ตรองและเปรียบเทียบระดับของความเสี่ยงที่จะป่วยกับระดับของการลดโอกาสการป่วยจากโรคนี้
“ประชาชนต้องรับทราบข้อมูลด้วยว่า วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดโอกาสเป็นโรคได้ 65 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีการป้องกันโรคยังจำเป็นต้องทำการกำจัดยุงลายและลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้น และหากป่วยมีไข้สูงต้องเฝ้าสังเกตอาการ และพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันท่วงที” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน ระบุ
ส่วนการจะนำวัคซีนไข้เลือดออกมาให้บริการฟรีทั่วประเทศนั้น ดร.นพ.จรุง กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ที่นำวัคซีนชนิดนี้เข้ามาให้บริการ แต่วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนใหม่ เพิ่งออกสู่ตลาดได้ไม่นาน ราคาจึงยังค่อนข้างสูง การนำมาใช้ในระดับประเทศของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงยังน้อยอยู่ จึงต้องใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเชิงสาธารณสุขอย่างรอบด้านอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาวัคซีนที่มีความเหมาะสม หรือราคาที่มีความคุ้มทุนตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ตามคำแนะนำและแนวทางขององค์การอนามัยโลกและธนาคารโลก
(ข่าวประชาสัมพันธ์)