กรมการแพทย์เปิดตัว 2 นวัตกรรม “ดวงตาปลอมเฉพาะบุคคล” จาก รพ.วัดไร่ขิง มีความเสมือนจริง กลอกตาได้ ไม่หลุดจากเบ้าตา ราคาถูกกว่านำเข้า 10 เท่า จ่อทำขายต่างประเทศ พร้อมผ่าตัดให้บริการ 999 ดวงตา ถวายเป็นพระราชกุศล ในหลวง ร.๙ และ “นาฬิกาเตือนน้ำตาลในเลือดต่” ช่วยผู้ป่วยรู้ตัวก่อนหมดสติเสียชีวิต
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าว “นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์” ว่า กรมฯ และโรงพยาบาลในสังกัดมีการจัดทำนวัตกรรมทางการแพทย์จำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือในการดูแลประชาชนเท่านั้น ยังสามารถต่อยอดในทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของนายกรัฐมนตรีด้วย โดยวันนี้มี 2 นวัตกรรมที่น่าสนใจ คือ 1. ดวงตาปลอมเฉพาะบุคคล จาก รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จ.นครปฐม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เสียดวงตาโดยการควักลูกตาออก ได้มีลูกตาที่มีความเสมือนจริง และ 2. นาฬิกาอัจฉริยะเตือนภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน จาก รพ.ราชวิถี ช่วยแจ้งเตือนหากผู้ป่วยเบาหวานน้ำตาลในเลือดต่ำ และช่วยเหลือได้ทันก่อนหมดสติ หรือเสียชีวิต
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริการดวงตาปลอมจะใช้ “ดวงตาปลอมสำเร็จรูป” ทำให้พบปัญหาขนาดไม่เท่าตาจริง สีของตาขาว ตาดำ และตำแหน่งของตาดำอาจไม่ตรงกับตาอีกข้างหนึ่ง และลูกแก้วที่ใช้ทำตาปลอม ซึ่งทำมาจากพลาสติกธรรมดา หรืออะคริลิก แม้จะมีราคาถูกมากประมาณ 200 - 300 บาท แต่เกิดปัญหาตาปลอมหลุดได้ เพราะไม่มีส่วนที่ยึดเกาะกับเนื้อเยื่อในช่องตา แม้ปัจจุบันจะมีการผลิตตาปลอมเฉพาะบุคคลที่มีความเสมือนจริง สามารถยึดเกาะเนื้อเยื่อให้ไม่หลุด และช่วยให้กลอกตาได้ แต่ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยตัวลูกบอลที่ใช้ทำตาปลอมเฉพาะบุคคลอยู่ที่ประมาณ 2.5 - 3 หมื่นบาท ส่วนตัวครอบลูกตาปลอมอยู่ที่ 1.5 - 2 หมื่นบาท ทำให้มีราคาแพง
“รพ.เมตตาประชารักษ์ จึงร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาดวงตาปลอมเฉพาะบุคคลขึ้นเอง โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ทำให้ได้ลูกบอลแทนดวงตาที่มีขนาดเหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยตัวลูกบอลทำมาจากวัสดุโพลิเอทิลีน ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้ฝังในร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว โดยพิมพ์ให้ลูกบอลมีลักษณะเป็นรูพรุน เพื่อให้เส้นเลือดในเบ้าตาเข้าไปเกาะยึดกับลูกบอลตาปลอมได้ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลอกลูกตาได้เสมือนลูกตาจริง และไม่หลุดออกจากเบ้าตา ส่วนตัวครอบตาปลอมจะมีการวาดเป็นตาขาว ตาดำ และเส้นเลือด ซึ่งทำมาจากอะคริลิก ให้มีความสมจริงทำให้สังเกตไม่ได้ว่าสูญเสียดวงตา ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 วัน สำหรับต้นทุนในการจัดทำลูกบอลอยู่ที่ 2 พันบาท ถูกกว่านำเข้าถึง 10 เท่า และตัวครอบดวงตาอยู่ที่ 3 - 5 พันบาท ซึ่งในอนาคตจะมีการประสานกับกระทรวงวิทย์ในการจัดหาผู้ผลิต และนำไปสู่การจำหน่าย ซึ่งมีตลาดต่างประเทศรองรับ ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมไปถึงแอฟริกา” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.ปานเนตร กล่าวอีกว่า ผู้ที่ใส่ดวงตาปลอม เนื่องจากมองเห็นเพียงข้างเดียว อาจทำให้กะระยะทางไม่แม่นเหมือนเดิม ตรงนี้ต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ ตาข้างที่เหลือหากมีปัญหาสายตาก็ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว หรือ เอียง โดยต้องตัดแว่นให้มีความเหมาะสมกับค่าสายตา และต้องใส่แว่นตลอด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากสิ่งของดีดกระเด็นเข้าตา โดยแว่นต้องใช้พลาสติกแทนแก้ว เพื่อป้องกันการแตกกระเด็นเข้าตาด้วย และมีการใช้สายตาให้เหมาะสม ควรพักสายตาทุกชั่วโมงประมาณ 1 - 2 นาที ป้องกันฝุ่นควันต่างๆ และตรวจสายตาทุก 1 ปี สำหรับดวงตาปลอมเฉพาะบุคคลที่พัฒนาขึ้นยังไม่อยู่ในสิทธิการรักษา ในอนาคตก็จะมีการหารือเพื่อให้บรรจุเป็นสิทธิการรักษาสำหรับทุกคน เพราะการทำดวงตาปลอมไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นการรักษาและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้
พญ.มิ่งขวัญ ลำยองเสถียร จักษุแพทย์ รพ.เมตตาประชารักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้เสียดวงตาโดยต้องควักตาออกประมาณ 200 - 300 รายต่อปี สาเหตุมาจากอุบัติเหตุจากการทำงาน อุบัติเหตุบนท้องถนน การติดเชื้อของกระจกตา ส่วนการดูแลดวงตาปลอมเฉพาะบุคคล จะมีการสอนผู้ป่วยในการถอดและใส่ที่ครอบดวงตา เพื่อนำมาทำความสะอาด เพราะหากใส่ตลอดเวลาอาจเกิดการติดเชื้อได้ และต้องเปลี่ยนที่ครอบตาทุก 5 ปี เพราะอาจมีขี้ตาติดสะสม และต้องขัดให้เรียบเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของดวงตา ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้จัดโครงการตาปลอม 999 ดวงตา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในผู้ที่สูญเสียดวงตา หรือดวงตาผิดรูปที่มีความยากไร้ โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมาร่วมโครงการได้เอง หรือโรงพยาบาลต้นสังกัดส่งมาได้ เพื่อที่จะประเมินก่อนว่าสามารถใส่ดวงตาปลอมได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใส่ดวงตาปลอมได้ หรือบางคนเปลือกตามีปัญหาก็ต้องได้รับการแก้ไขก่อน เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งวันที่ 1 มกราคม 2560 - 30 มกราคม 2565 สอบถามโทร. 0-3438-8712-4 ต่อ 3129 ทุกวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ เวลาราชการผ
ผศ.นพ.สถิตย์ นิรมิตมหาปัญญา กลุ่มงานอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ รพ.ราชวิถี กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะเกิดอาการตั้งแต่ความรู้สึกหิว หวิวๆ ใจสั่น เหงื่อออก มือสั่น กังวล คลื่นไส้ บางครั้งอาจหนักจนถึงขั้นชักเกร็ง หรือหมดสติได้ ซึ่งพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและมีภาวะติดเตียงมักเสียชีวิตจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ จึงมีการพัฒนานาฬิกาในการแจ้งเตือนเมื่อผู้ป่วยน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยมีตัวเซนเซอร์ที่ตรวจจับเรื่องของการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย ความชื้นหรือเหงื่อ และภาวะมือสั่น และประมวลผลออกมาว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ และแจ้งเตือนทันทีหากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพื่อให้ป้องกันได้ทันก่อนหมดสติ หรือเสียชีวิต
ผศ.นพ.สถิตย์ กล่าวว่า นาฬิกาดังกล่าวสามารถนำมาใช้งานได้ 2 ส่วน คือ ในโรงพยาบาล ข้อมูลจากนาฬิกาจะถูกส่งไปยังพยาบาลทันที ทำให้ทราบและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน และการใช้งานในผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป จะมีการเชื่อมข้อมูลกับแอปพลิเคชันทางสมาร์ทโฟน จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวและเพิ่มระดับน้ำตาลให้ตัวเองได้ทัน ซึ่งการแจ้งเตือนจะมี 2 ระดับ คือ สีเหลือง คือ เสี่ยงปานกลาง และ สีแดง คือ เสี่ยงรุนแรงต้องรีบเพิ่มระดับน้ำตาลทันที ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจาะเลือด เพราะบางครั้งเมื่อเกิดเหตุก็เจาะเลือดไม่ทัน หรือต้องเจาะเลือดบ่อยครั้ง ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาในเรื่องของระบบจีพีเอส เพื่อส่งข้อมูลไปยังญาติให้ทราบด้วย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องความแม่นยำในการตรวจระดับน้ำตาล เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยการเจาะเลือด ซึ่งคาดว่า จะเริ่มต้นในปี 2560 และพยายามทำให้เสร็จและใช้ได้จริงทันวันเบาหวานโลก คือ วันที่ 14 พ.ย. 2560