xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงาน-ก.ศึกษาฯ อัปฝีมือแรงงานกว่า 1.6 พันคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน จับมือ ก.ศึกษาธิการ เร่งพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวะ ระบุช่วง 2 เดือน กว่า 1,600 คน สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายด้านการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงแรงงาน บูรณาการความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอาชีวศึกษา ให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเป็นกำลังแรงงาน ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทัดเทียมระดับสากลได้อย่างมีคุณภาพ

เมื่อสองหน่วยงานร่วมมือกันในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงานใหม่ ให้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงแรงงาน 20 ปี รวมถึงเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานในการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ กพร. เร่งดำเนินการประสานกับหน่วยงานในภูมิภาค ประสานงานกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีการจัดการศึกษาในระบทวิภาคีและสหกิจศึกษา

นายธีรพล กล่าวว่า การประสานงานในพื้นที่เพื่อดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มทักษะให้แก่นักศึกษา ก่อนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือก่อนเข้าฝึกงานในสถานประกอบกิจการ 2. ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่นักศึกษาทำการศึกษาอยู่ หรือเกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการที่นักศึกษาจะไปฝึกงาน ทั้งนี้ นักศึกษาที่จะเข้ารับการทดสอบต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพ และมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง กรณีต้องการทดสอบในระดับที่สูงขึ้น จะต้องมีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพ หรือได้คะแนนรวมในสาขาอาชีพ และระดับที่เคยสอบผ่านมาแล้วตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานประกาศกำหนด

3. กรณีที่นักศึกษายังขาดคุณสมบัติ ให้ดำเนินการทดสอบทักษะให้แก่นักศึกษาก่อนที่จะไปฝึกงาน โดยประสานงานกับสถานศึกษาเพื่อจัดเตรียมแบบทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ 4. ชี้แจงและประสานงานเพื่อให้สถานประกอบกิจการที่มีการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิ การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ไปในการจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ได้รับความช่วยเหลือจาก กพร. ในด้านการพัฒนาหลักสูตร อุปกรณ์การฝึกอบรม การฝึกอบรมหัวหน้างาน และการพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นต้น โดยในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กพร. ได้ประสานความร่วมมือกับสถานการศึกษาและสถานประกอบกิจการแล้วจำนวน 75 แห่ง มีนักศึกษาเข้ารับการพัฒนาฝีมือแรงงาน 1,667 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น