โดย...พญ.ภาวดี ศึกษากิจ แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว111
ลมหนาวเริ่มผ่านมากระทบผิว ให้ได้รู้สึกถึงอากาศที่ลดลง ทำให้ร่างกายต้องปรับสภาพ หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งมีโรคหลายๆ โรคที่แอบแฝงมากับความเย็น วันนี้ พญ.ภาวดี ศึกษากิจ แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 กล่าวว่า ช่วงที่ลมหนาวมาเยือนสลับกับอากาศร้อนและฝนในบางช่วง มักทำให้เกิดโรคที่มาจากไวรัส ซึ่งแสดงออกผ่านทางผิวหนัง โดยแบ่งเป็นโรคใหญ่ๆได้ถึง 8 โรค ได้แก่
1. โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สามารถติดต่อได้ทางอากาศ น้ำมูก น้ำลาย สัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสโดยตรง หรือการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย อาการที่แสดงออกจะเริ่มจากการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ ต่อมาจะเริ่มมีตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นตามผิวหนัง กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง โดยมากจะเกิดกับเด็กเล็กๆ วัยรุ่น จนถึงในวัยหนุ่มสาว แต่ก็มีเกิดกับผู้ใหญ่ได้บ้าง ซึ่งหากเกิดกับผู้ใหญ่ อาการของโรคมักจะรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อน มากกว่าในเด็ก หรือในวัยหนุ่มสาว
การป้องกัน คือ การฉีดวัคซีน การรักษา มีดังนี้ 1. แพทย์จะประเมินผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้น หากมีไข้ จะสั่งยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด 2. ทำความสะอาดร่างกาย ให้ยาแก้คัน และในผู้ป่วยบางราย อาจมีการให้ยายับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสร่วมด้วย 3. ห้ามไม่ใช้ข้าวของปนกันผู้อื่น 4. พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมากๆ 5. ควรแยกผู้ป่วยออก จากคนที่ไม่เคยเป็นโรค จนกว่าตุ่มน้ำสุดท้ายจะแห้งตกสะเก็ด คือ พ้นระยะติดต่อแล้ว
2. โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดสุกใส (Varicella virus) เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคสุกใส และเมื่อหายแล้ว เชื่อจะยังอยู่ในร่างกายตลอดไป หลบอยู่ตามปมประสาท รอเวลาร่างกายอ่อนแอ ไวรัสที่แฝงอยู่จะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของโรคงูสวัด อาการของโรค มักจะมีปวดเมื่อยเนื้อตัว อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ ปวดแปลบ หรือปวดแสบ หรือปวดแสบร้อนในบริเวณที่เป็น จากนั้นจะเริ่มมีตุ่มน้ำใสๆ เป็นกระจุกปนปื้นแดง พบได้บ่อยบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถเป็นได้ในบริเวณอื่นๆ
การรักษา ทำได้โดย 1. แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน หลังเกิดอาการเพื่อลดความรุนแรง หรือให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในกรณีที่เป็นรุนแรง 2.หากงูสวัดขึ้นตา จะต้องไปพบจักษุแพทย์ เพื่อให้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยอดตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา
3. โรคเริม เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม HERPES (Hsv--1/Hsv-2) เริมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำขนาดเล็กๆ พบได้บ่อยที่บริเวณเนื้ออ่อนๆ เช่น ริมฝีปาก, อวัยวะเพศ และก้น ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นซ้ำๆ บริเวณเดิมๆ อาการเมื่อติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หากเคยเป็นมาแล้วสามารถเป็น หากเกิดภาวะเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ หากเคยเป็นมาบ่อยๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเจ็บๆ คันๆ เท่านั้น และมักมีประวัติเครียด พักผ่อนไม่พอ ร่างกายอ่อนแอก่อนที่ตุ่มน้ำจะขึ้น
การรักษา คือ 1. ถ้าอาการรุนแรง แพทย์จะให้ยาทา และรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพื่อต้านการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส 2. หากมีภาวะแทรกซ้อน หรือการติดเชื้อแพร่กระจาย ผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาเข้าหลอดเลือดดำและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ผู้ป่วย มะเร็ง ผู้สูงอายุ 3. การใช้ยารัปประทาน จะช่วยทำให้ผื่นหายเร็วขึ้น
4. โรคหัด มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ช่วงอายุประมาณ 1 ปี ถึงช่วงวัยประถมศึกษา โรคหัดมักติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ อาการ จะมีไข้สูง ไอมาก ตาแดง คล้ายเป็นหวัด ต่อมาจะมีผื่นแดงขนาดเล็กๆ ขึ้นตาม แขน
การรักษา คือ 1. ปฏิบัติตัวเหมือนรักษาโรคไข้หวัด คือ พักผ่อน ดื่มน้ำสะอาด หากมีไข้สามารถทานยาลดไข้ได้ 2. ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนใกล้ชิด จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ 3. บางรายอาจมีอาการหอบ หายใจเร็วกว่าปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที
5. โรคหัดเยอรมัน สามารถติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ หากเกิดขึ้นกับสตรีมีครรภ์อาจทำให้ทารกพิการได้ อาการของโรคนี้ คือ จะมีไข้ต่ำๆ ร่วมกับอาการปวดเมื่อยตามตัว และจะมีผื่นแดงเป็นปื้นขึ้นที่หน้า และขึ้นเต็มตัวภายใน 1 วัน
การรักษา 1. ปฏิบัติตัวเหมือนรักษาโรคไข้หวัด คือ พักผ่อน ดื่มน้ำสะอาด หากมีไข้สามารถทานยาลดไข้ได้ 2. ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนใกล้ชิด จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ 3. บางราย อาจมีอาการหอบ หายใจเร็วกว่าปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที 4. หากมีอาการคันร่วมด้วยจะต้องทายาแก้ผดผื่นคัน
6. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ลักษณะจะเป็นผื่นแดง แห้ง ลอก และมีอาการคัดผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขน, ขา, ใบหน้า สามารถพบได้แทบทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามร่างกายอย่างรุนแรง หากเกาจะทำให้เกิดแผลถลอกและติดเชื้อได้
การรักษา ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น 1. การเลือกสบู่ หรือ ครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน และไม่ควรอาบน้ำร้อนจนเกินไป 2. การเลือกใส่เสื้อผ้า ควรใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม ระบายอากาศ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มีเหงือออกมาก 3. ควรเลือกโลชั่น หรือครีมทาผิว ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและสารกันเสีย เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น 4. ไม่ ถู ขัด เกา บริเวณที่เป็นผื่น นอกจากนี้ การพักผ่อน การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
7. ผื่นผิวหนังอักเสบ (Seborrtheic dermatitis) จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ด เป็นมันๆ โดยมากจะเกิดบริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู และหนังศีรษะ โดยเฉพาะหน้าหนาวยิ่งทำให้ผิวแห้ง จึงทำให้ผื่นชนิดนี้มีโอกาสเกิดได้มากขึ้น
การรักษา 1. ระยะเฉียบพลัน ให้ประคบด้วยน้ำเกลือ จนกว่าจะแห้งจึงหยุดประคบ 2. ระยะปานกลาง แพทย์จะให้ทายาสเตียรอยด์ แต่จะต้องอยู่ที่ตำแหน่งของผื่นด้วย 3. ระยะเรื้อรัง การใช้ยาสเตียรอยด์ผสม Salicylic acid จะช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น
8. เชื้อรา กลาก (ring worm หรือ tinea) เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งจะเกิดที่ผิวหนังชั้นนอกสุด เช่น คอ ลำตัว แขนขา ศีรษะ เล็บ ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง และติดต่อง่าย
การรักษา 1. ทาขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน ติดต่อกันทุกวันประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ 2. ผู้ที่เป็นๆ หายๆ การใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวอาจทำให้หายช้า จะต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานร่วมด้วย ซึ่งการรับประทานยาจะต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์
สำหรับวิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกลาก คือ ควรทำความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกต่างๆ ของร่างกาย อย่าปล่อยให้เปียกชื้น และระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ ควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ ไม่ควรใช้สิ่งของเหล่านี้ปะปนกัน และห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ทารักษาโรคกลาก เพราะอาจจะทำให้โรคลุกลามได้