xs
xsm
sm
md
lg

แฉนมผงเลี่ยง กม.ใช้ “นมสูตร 3” เติมสาร DHA โฆษณาล่อลวงแม่ ยัน พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ต้องคุมนมผงถึง 3 ขวบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการแฉธุรกิจนมผงใช้ “นมสูตร 3” สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป มาทำการตลาดลดแลกแจกแถม โฆษณาล่อลวงให้เลือกซื้อ พบส่งผลต่อการตัดสินใจ เพิ่มวิกฤตเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง สร้างมายาคตินมผงดีกว่านมแม่ บิดเบือนความจริงเป็นนมทางเลือกสำหรับแม่ที่ไม่มีน้ำนม กรมอนามัยยันออกกฎหมายคุมนมผงทารกถึง 3 ปี ป้องกันการตลาดผิดจริยธรรม เพิ่มดื่มนมแม่

จากกรณีสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ยื่นจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ (Code milk) ที่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด - 3 ปี โดยเสนอให้ควบคุมเหลือเพียง 1 ปี และไม่ควบคุมอาหารทางการแพทย์

วันนี้ (9 ธ.ค.) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงเพื่อปกป้องเด็กไทย” ว่า ร่าง พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ มีความจำเป็น เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมแม่เพิ่มมากขึ้น และป้องกันการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ผิดจริยธรรม ส่วนที่ต้องห้ามการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี นั้น เพราะปัจจุบัน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีประกาศห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 จนถึงอายุ 3 ปีอยู่แล้ว หากออก พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ โดยลดการควบคุมลงไปเหลือเพียงอายุ 1 ปีตามข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจนมผง ก็เท่ากับว่า กฎหมายใหม่ลดน้อยไปกว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่ ประเด็นสำคัญ คือ แม้จะมีกฎหมายห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 แต่ที่ยังเห็นมีการโฆษณาบ่อยๆ เพราะเป็นการเอานมสูตรอื่น เช่น นมสูตร 3 ที่ไม่ได้ห้ามมาโฆษณาแทน จึงต้องควบคุมที่อายุ 3 ปี เพื่อคงมาตรฐานเดิม และป้องกันการโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 69 เมื่อ มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ก็แนะนำให้ควบคุมการโฆษณาและการตลาดนมผงสำหรับเด็กจนถึงอายุ 3 ปี

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับนมทางการแพทย์ ถือว่าไม่สมควรทำการโฆษณาอยู่แล้ว เพราะเป็นนมที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่สมควรที่จะทำการโฆษณาอยู่แล้ว ส่วนร่างกฎหมายที่มีการห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือตัวแทน ทำการบริจาคนมผงแก่หน่วยบริการสาธารณสุข หรือบุคลากรสาธารณสุข ก็เพื่อป้องกันการสบโอกาสนำการบริจาคมาเป็นเครื่องมือในการทำการตลาด แต่ก็มีข้อห้ามยกเว้นไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่บังคับกรณีทารกและเด็กเล็กที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือผู้มีความผิดปกติของร่างกาย และบริจาคในกรณีจำเป็นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจนมผงออกนมมาหลายสูตรให้มีอายุที่คร่อมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยปัจจุบันมีนมอยู่ 4 สูตร คือ สูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน สูตร 2 สำหรับ อายุ 6 เดือน - 3 ปี สูตร 3 สำหรับอายุ 1 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัว และสูตร 4 สำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัว โดยปัจจุบันห้ามโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 อยู่แล้ว ส่วนนมสูตร 3 โฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นพรีเซนเตอร์ แต่ก็มักจะใช้เด็กอายุ 3 ปีนิดๆ มาทำการโฆษณาเพื่อให้ดูลำบากว่าเด็กอายุเท่าไร และดึงดูดความสนใจโดยการผสมสาร DHA และ ARA เพื่อให้เหมาะสำหรับเด็กเล็ก และมีการมาทำการโฆษณา และการตลาดแบบลดแลกแจกแถม ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องกินนมสูตร 3 เลย เพราะสามารถกินนมสูตร 1 หรือสูตร 2 ได้ ดังนั้น นมสูตร 3 จึงถือเป็นกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจ ซึ่งหากกฎหมายออกมาควบคุมการตลาดนมผงเพียงแค่อายุ 1 ปี ก็เท่ากับทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม ไม่มีประโยชน์อะไรในการออกกฎหมาย

“ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กไม่เกรงกลัวประกาศตาม พ.ร.บ. อาหาร เลย เพราะไม่มีบทลงโทษ แม้กลุ่มอุตสาหกรรมฯ จะรับปากในการควบคุมกันเอง แต่ก็มักอ้างว่าคู่แข่งมีการละเมิดก็ต้องทำบ้าง นอกจากนี้ ยังมีการทำการตลาดแบบผิดจริยธรรม โดยเฉพาะการล่อลวงแม่ที่มีฐานะยากจนโดยการให้ผลิตภัณฑ์ฟรี ซึ่งในอดีตมีการให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกรเป็นพรีเซนเตอร์ แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ จนกระทรวงสาธารณสุขมีการออกประกาศห้ามบุคลากรสาธารณสุขยุ่งเกี่ยวกับนมผง มีการไปให้กิฟต์เซตที่หน่วยงานรับแจ้งเกิด เป็นต้น จึงต้องมีการออกกฎหมายมาควบคุมการตลาดที่ผิดจริยธรรมแบบนี้ ซึ่งเราล่าช้ามากว่า 35 ปีแล้ว ส่งผลให้เด็กไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ต่ำที่สุดในอาเซียน คือ 12.3% เท่านั้น ต่ำกว่าเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เสียอีก และที่เด็กไทยไอคิวต่ำ ก็เพราะมีปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่ง จึงหวังว่า สนช. และ ครม. จะเห็นความสำคัญของเด็กไทย เพราะหลายประเทศก็มีการออกกฎหมายดังกล่าวแล้ว เช่น เวียดนาม เป็นต้น” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

ดร.เรณู การ์ก หัวหน้าฝ่ายโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำชัดเจนว่า เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้น ควรให้นมแม่ต่อเนื่องควบกับอาหารตามวัยที่เหมาะสมถึง อายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น อีกทั้งอาหารทดแทนนมแม่ไม่ควรได้รับการโฆษณา หรือส่งเสริมการตลาดใดๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่ระบุว่าสำหรับเด็กอายุ 0 - 3 ปี และไม่ควรมีการใช้เทคนิคการขายแบบข้ามชนิด เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ โทนสี คำขวัญ สัญลักษณ์ มาสคอต ของอาหารทารกและเด็กเล็กที่คล้ายคลึงกับอาหารทดแทนนมแม่เพื่อโฆษณาทางอ้อม มีงานศึกษาวิจัยยืนยันชัดเจนถึงอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้แม่หยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร รวมถึงให้อาหารเสริมก่อนลูกอายุ 6 เดือนอีกด้วย

ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า จากผลศึกษาการเฝ้าระวังและติดตามกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงที่ละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พบว่า การส่งเสริมการตลาดนมผงส่วนใหญ่ใช้กลวิธี 5 รูปแบบที่บูรณาการร่วมกันและส่งผลต่อการตัดสินใจของแม่เป็นอย่างมาก ประกอบด้วย 1. การโฆษณา 2. การส่งเสริมการขาย 3. การตลาดทางตรง 4. การตลาดทางอินเทอร์เน็ต และ 5.พนักงานขาย ซึ่งบริษัทได้หลบเลี่ยงหลักเกณฑ์ ด้วยการเอาผลิตภัณฑ์นมผงของเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป มาโฆษณา โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับนมผงทารกทำให้แม่สามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ในการเลือกซื้อ นอกจากนี้ ยังพบการละเมิดหลักเกณฑ์สากลฯ โดยการติดต่อสื่อสารกับแม่โดยตรงโดยใช้การตลาดทางตรงผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เฟซบุ๊ก รวมถึงการจัดกิจกรรมพิเศษในโรงพยาบาลและตามงานต่างๆ เพื่อแจกนมผงทดลองถึงแม่และผู้ปกครองโดยตรง

“การสื่อสารการตลาดนมผงในปัจจุบันได้สร้างมายาคติให้แม่เข้าใจว่า นมผงดีเท่ากับนมแม่ ด้วยการโฆษณาว่าเติมสารอาหารต่างๆ ทำให้ความจริงที่ว่านมผงผลิตออกมาก็เพื่อใช้สำหรับแม่ที่ไม่สามารถมีน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกได้หายไป ประกอบกับเมื่อแม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องทำงาน ทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อนมผงง่ายขึ้น ดังนั้น การออกกฎหมายมาควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี จะเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งผลให้การทำการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบไม่สามารถทำได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลางก่อนที่จะตัดสินใจเลือกนมที่จะใช้เลี้ยงลูก เด็กก็จะมีโอกาสที่จะได้กินนมแม่มากขึ้นโดยเฉพาะแม่ที่มีศักยภาพเพียงพอในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แทนการใช้นมผง และเมื่อไม่มีการส่งเสริมการตลาดนมผงก็ควรจะต้องถูกลงถึง ร้อยละ 20 - 25” ดร.บวรสรรค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น