xs
xsm
sm
md
lg

คาดตัดสิทธิ์ “เกรียงศักดิ์” ชิงเก้าอี้เลขาฯ สปสช. บอร์ดฯ ยันสรรหารัดกุม ไม่เร่งรีบตามที่กล่าวหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เกรียงศักดิ์” ทำหนังสือท้วงบอร์ด สปสช. สรรหา และแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช. เร่งรีบ ไม่รอบคอบ ด้าน บอร์ด สปสช. ยันทำงานรัดกุม ไม่มีการทบทวน มอบ คกก. สรรหา พิจารณาตัดสิทธิ์ “เกรียงศักดิ์” ไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ เผย กฤษฎีกาพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร 13 ธ.ค. ศาลขยายเวลาส่งคำให้การคดี “หมอประทีป” ฟ้องบอร์ด สปสช. ออกไปถึง 6 ม.ค. 60

วันนี้ (8 ธ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการสรรหาเลขาธิการ สปสช. และความคืบหน้ากรณี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. ฟ้องร้องบอร์ด สปสช. ที่ไม่รับรอง นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช. โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอหนังสือของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น หนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ลงวันที่ 7 พ.ย. 2559 ส่งถึงประธานบอร์ด สปสช. บอร์ด สปสช. และกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. โดยขอให้ทบทวนกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากกระบวนการเป็นไปด้วยความเร่งรีบ ขาดความรอบคอบ ใช้อำนาจ และไม่รับฟังข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายที่รับผิดชอบโดยตรง จนถึงกับมีการออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมที่เพิ่งออกได้ไม่กี่วัน และแต่งตั้งกรรมการสรรหาคนใหม่

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ตามที่ฝ่ายกฎหมายของ สปสช. ชี้แจงในที่ประชุม พบว่า กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ เป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว จึงไม่ต้องทบทวนตามข้อเรียกร้อง ส่วนกรณีการตัดสิทธิ นพ.เกรียงศักดิ์ จากการเข้ารับการสรรหาเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ไม่ใช่หน้าที่ของบอร์ด สปสช.

นายพรหมมินทร์ หอมหวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สปสช. กล่าวว่า การดำเนินงานไม่ได้เป็นไปด้วยความเร่งรีบหรือขาดความรอบคอบแต่อย่างใด เพราะนับแต่บอร์ด สปสช. มีมติให้สรรหาเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ คือ วันที่ 4 ก.ค. 2559 แต่มีการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อจ้างและแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สปสช. ลงวันที่ 24 ส.ค. 2559 นับว่าใช้เวลาถึง 51 วัน ส่วนที่มีการยกเลิกการแต่งตั้ง นายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นกรรมการสรรหา เนื่องจากพบว่า นายวรากรณ์ เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนด เพราะเป็นผู้บริหารของนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. และแต่งตั้ง นายต่อตระกูล ยมนาค เป็นกรรมการสรรหาแทนเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559 แสดงให้เห็นว่ากระบวนการเป็นไปด้วยความรอบคอบ และการพิจารณาออกคำสั่งต่างๆ ก็ทำด้วยความรัดกุมแล้ว ส่วนกรณี นพ.เกรียงศักดิ์ ไม่ได้มาสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ตามที่กำหนด คือ วันที่ 9 พ.ย. 2559 ปัญหาไม่ได้เกิดจากการส่งจดหมายเชิญล่าช้า เพราะเป็นการส่งล่วงหน้าพร้อมด้วยใบตอบรับ ซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์ ก็มีการส่งใบตอบรับกลับมาว่าไม่สามารถเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ได้ และวันที่ 9 พ.ย. 2559 ที่เป็นวันแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ก็ไม่สามารถติดต่อ นพ.เกรียงศักดิ์ ได้ ซึ่งในจดหมายเชิญมีการลงเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนแล้วว่า หากไม่มาสัมภาษณ์ตามวันและเวลาที่กำหนด หรือมาสายเกินกว่า 30 นาที ถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งทางคณะกรรมการสรรหาก็ให้เวลาจนถึงวินาทีสุดท้าย

“สำหรับการส่งรายชื่อ 6 ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ ซึ่งรวมถึง นพ.เกรียงศักดิ์ ด้วยนั้น เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคุณสมบัติ ได้รับแจ้งว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 13 จะมีการปรชุมเพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัครทั้ง 6 ราย ในวันที่ 13 ธ.ค. 2559” นายพรหมมินทร์ กล่าว

ด้าน นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ประธานคณะทำงานประสานการดำเนินคดี บอร์ด สปสช. กล่าวว่า จากกรณีศาลปกครองขยายเวลาในการส่งเอกสารคำให้การต่างๆ ในคดีในเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 6 ธ.ค. 2559 ล่าสุด ได้มีการขยายเวลาออกไปเป็นวันที่ 6 ม.ค. 2560 แต่ยืนยันว่า จะเสร็จทันภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนกรณีการทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เป็นบอร์ด สปสช. เพื่อรายงานให้ทราบว่าบอร์ด สปสช. ถูกฟ้องร้องนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่ามี 2 กระทรวง ที่รับทราบ และมีการแต่งตั้งผู้แทนในการที่จะมาชี้แจงต่อศาลแล้ว คือ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม
กำลังโหลดความคิดเห็น