xs
xsm
sm
md
lg

“โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ของขวัญเชื่อมความรัก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ” และพสกนิกรในพระองค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ที่กำเนิดขึ้นจากความรักและศรัทธาของประชาชน ถวายเป็นของขวัญแด่พระองค์ และในทางกลับกัน “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ก็มุ่งดำเนินงานดูแลสุขภาพประชาชนเป็นอย่างดี ถือเป็นของขวัญพระราชทานจากพระองค์ที่มีต่อประชาชนของพระองค์เช่นกัน

จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2520 โดย ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีดำริจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น ในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์ และเพื่อให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นของขวัญจากพี่น้องประชาชนชาวไทย ที่สำคัญ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ และทรงเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด้วยพระองค์เองทุกแห่งด้วย

จากการระดมทุนโดยเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกหมู่เหล่า บริจาคเงิน ที่ดิน สิ่งของ และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้าง “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2522 ได้เงินบริจาครวมทั้งสิ้นมากกว่า 193 ล้านบาท โดยได้นำนำเอาทรัพย์สินจากการบริจาคมาจัดตั้งเป็น “มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2520 เพื่อจัดสร้าง “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” จำนวน 21 แห่ง ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญแด่พระองค์ เพื่อเป็นโรงพยาบาลสำหรับให้บริการแก่ทหาร ตำรวจ พลเรือน อาสาสมัคร และประชาชน ในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร

เกือบ 40 ปีที่มีการก่อตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ได้มีการพัฒนาการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาโดยตลอด จากเดิมที่เป็นเพียงสถานีอนามัย มีเตียงผู้ป่วยเพียง 10 เตียง เมื่อได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ก็ได้ขยายเตียงผู้ป่วยเป็น 30 เตียง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สมดังพระราชดำรัสของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2529 ว่า

“ทุกคนที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่ รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน”

ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ในอดีตเป็นเพียงสุขศาลาท่าบ่อ และได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนสถานีอนามัย และเป็นโรงพยาบาลท่าบ่อตามลำดับ แต่ยังคงมีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง 10 เตียง เมื่อได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ก็ได้รับการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง และ 60 เตียงตามลำดับ จนปัจจุบันกลายเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ และจัดเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเจซีไอ (JCI : Joint Commission International) ด้วยคะแนนสูงสุดร้อยละ 96 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานระดับโลก โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ คือ เป็นมาตรฐานที่เน้นด้านความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เป็นหลักประกันให้กับผู้มาใช้บริการ นอกจากหายป่วยแล้ว ยังปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนกลับไป

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ยังสร้างชื่อเสียงจากการเป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญในการในการผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไตด้วย โดยเป็นโรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดนิ่วมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณกว่า 5,000 ราย ทั้งชาวไทย และชาวลาว โดยใช้เวลาในการผ่านิ่วโดยใช้กล้องส่องประมาณ 15 - 30 นาทีเท่านั้น โดยคนไข้สามารถกลับบ้านได้ภายใน 1 - 2 วัน ขนาดแผลผ่าตัดเล็ก ไม่เจ็บปวดมาก ที่ผ่านมา เคยผ่าตัดนิ่วออกจากถุงน้ำดีของคนไข้มากที่สุดถึง 920 เม็ด

ขณะที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร ถือเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลคุณธรรมต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการประเมินแล้วว่า เป็นโรงพยาบาลที่มีการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ประหยัด ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องบนพื้นฐานทางศีลธรรม วัฒนธรรม และหลักกฎหมาย ให้บริการด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน เป็นโรงพยาบาลต้นแบบ และใช้เป็นที่ศึกษาดูงาน ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อสามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว หากประสบผลสำเร็จจะเป็นการดึงสภาพสังคมไทยในอดีตที่เต็มไปด้วยสังคมแห่งความมีน้ำใจกลับคืนมา เอื้อให้เกิดบรรยากาศบริการคล้ายเป็นญาติสนิทที่สัมผัสได้จริง

สำหรับหัวใจสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลตะพานหิน เป็นโรงพยาบาลคุณธรรมต้นแบบคือ ผู้บริหารสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทุกสายงานของโรงพยาบาลมีส่วนร่วมกำหนดหลักคุณธรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยทำเป็นนโยบายของโรงพยาบาล ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนลงมือปฏิบัติตามร่วมกัน เช่น มีความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ มีจิตอาสาเพื่อประโยชน์ของสังคม โดยหวังให้เกิดผล 4 ด้าน คือ ความรักความสามัคคี การประหยัดลดการสูญเปล่าทรัพยากร การพัฒนาคุณภาพการบริการ และได้รับยกย่องชื่นชมจากประชาชนผู้ใช้บริการ สมดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ให้บุคลากรของโรงพยาบาลต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาพยาบาลประชาชนเป็นอย่างดีนั่นเอง

นอกจากการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแล้ว มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยังสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการรักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมาโดยตลอดด้วย

และเมื่อปี 2558 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 28 กรกฎาคม 2558 และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จึงได้ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดทำโครงการ “ออมขวัญ ปันสุข” ด้วยการมอบเงินขวัญถุงพระราชทานเปิดบัญชีเงินฝากให้กับเด็กทุกคนที่คลอดในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทั่วประเทศคนละ 500 บาท และหากตั้งชื่อบุตรว่า “ออมสิน” จะได้รับเงินขวัญถุงเพิ่มจากธนาคารออมสินอีก 500 บาท เป็น 1,000 บาท ตลอดเดือนกรกฎาคม 2558 โดยจะพิมพ์ชื่อเด็กบนสมุดคู่ฝากที่จัดทำขึ้นอย่างสวยงาม มีทั้งโลโก้ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และธนาคารออมสิน

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จึงนับเป็น “ของขวัญ” ที่เชื่อมความรัก เชื่อมดวงใจของคนไทยที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นับแต่ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และเป็นของขวัญที่แสดงถึงความรักของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยเช่นกัน








กำลังโหลดความคิดเห็น