xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหญิงล้านนา “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” ผู้เป็นที่เสน่หาแห่ง “พระปิยะมหาราช”!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ในบรรดาฝ่ายในที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น คือ

ชั้นต่ำสุดเรียกว่า “นางอยู่งาน” แต่โบราณเรียกว่า “นางกำนัล” มีหน้าที่รับใช้ในพระมหามณเฑียร

ลำดับสูงกว่านั้นขึ้นมา เรียกว่า “เจ้าจอม” ชั้นนี้จะมีคำว่า เจ้าจอม นำหน้าชื่อทุกคน

เมื่อเจ้าจอมมีประสูติพระราชโอรสพระราชธิดา ก็จะมีคำนำหน้าชื่อว่า “เจ้าจอมมารดา” เครื่องยศเทียบเท่าพระสนม

พระสนมคนใดทรงพระเมตตา ได้รับพระราชทานเครื่องยศสูงกว่าพระสนมทั่วไป จะเรียกว่า “พระสนมเอก”

ส่วนชั้นพิเศษซึ่งเป็นชั้นสูงสุดนั้น เป็นระดับ “พระมเหสีเทวี” ซึ่งในกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า “พระภรรยาเจ้า”

ในระดับนี้ยังเรียงลำดับตามอาวุโส คือ พระอัครมเหสี พระราชมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอัครชายา หรือพระราชชายา

“พระภรรยาเจ้า” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีอยู่ ๙ พระองค์ ซึ่ง ๔ พระองค์อยู่ในชั้น “ลูกหลวง” ซึ่งหมายถึงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และชั้น “หลานหลวง” ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน องค์เดียวในจำนวนนี้ที่ดำรงพระฐานันดรศักดิ์มเหสีเทวีด้วย แต่ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์จักรี หากมาจากราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ก็คือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นราชธิดาองค์สุดท้ายในลำดับที่ ๑๑ ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่องค์ที่ ๗ กับเจ้าแม่ทิพเกสร ซึ่ง ม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่า มีธรรมเนียมไทยมาแต่โบราณอย่างหนึ่ง มักจะเรียกชื่อเด็กให้ผีเกลียดมาแต่แรกเกิด แล้วจึงเรียกชื่อให้เป็นมงคลนามภายหลัง เจ้าดารารัศมีจึงมีพระนามเดิมว่า “อึ่ง” ทรงได้รับการศึกษาจากพระชนกชนนีเช่นเดียวกับหญิงในสมัยของท่าน เมื่อได้เวลาทำโสกันต์ พระบิดาโปรดให้มีพิธีใหญ่แห่รอบเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ภาคพายัพ เสด็จไปช่วยงาน นำตุ้มพระกรรณและธำรงเพชรไปพระราชทานเป็นของขวัญ ทั้งพระราชทานยศ นางเต็ม พระพี่เลี้ยงหญิง เป็น นางกัลยารักษ์ และพระพี่เลี้ยงชาย นายน้อย บุญทา เป็น พญาพิทักษ์เทวี

ใน พ.ศ.๒๔๒๙ หลังโสกันต์ได้ ๒ ปี พระเจ้าอินทวิชานนท์เสด็จลงมางานพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่กรุงเทพฯ พระบิดาได้ทรงพาเจ้าดารารัศมีลงมาด้วย เลยไม่ได้กลับเชียงใหม่ สมเด็จพระปิยมหาราชทรงขอเจ้าดารารัศมีจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้ประทับอยู่ในห้องผักกาด บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และอยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมราชินีเสาวภาผ่องศรี จนทรงพระครรภ์แล้วจึงโปรดเกล้าฯปลูกตำหนักพระราชทานให้เป็นส่วนพระองค์

ในวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๒ เจ้าดารารัศมีประสูติพระราชธิดา ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานพระนามในวันขึ้นพระอู่ว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีลี ซึ่งหมายถึง “ผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่”

แต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ ๘ ปี ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราชรับสั่งกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ฉันผิดเอง ลูกเขาควรจะเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย”

ม.จ.พูน พิสมัย ทรงเล่าว่า แม้เจ้าดารารัศมีจะอยู่ในพระบรมมหาราชวังในฐานะเจ้าจอมมารดาชั้นผู้ใหญ่ แต่ก็ทรงรักษาความเป็นชาวเหนืออย่างเคร่งครัด ทรงซิ่นตลอดมาตั้งแต่เข้ามาอยู่ และทรงไว้พระเกศายาว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ทรงเป็นชาวเหนือเพียงพระองค์เดียวในพระบรมมหาราชวัง

เจ้าดารารัศมีได้รับพระราชทานตำหนักที่ประทับใหญ่โตทั้งในพระบรมมหาราชวัง และ พระราชวังสวนดุสิต ในเวลาว่างราชการ เช่นในการเข้าเฝ้าเป็นครั้งคราวหรือเสด็จงานพระราชพิธีต่างๆแล้ว เจ้าดารารัศมีโปรดแต่งโคลงกลอนและการดนตรี พระองค์ทรงดีดจระเข้และสีซอได้ดี จนพระตำหนักของพระองค์เป็นสำนักดนตรีที่ดีแห่งหนึ่งในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังทรงฝึกฟ้อนรำแบบเชียงใหม่ที่เรียกว่า “ฟ้อนเมือง” ไว้ด้วย

ตอนที่เจ้าดารารัศมีถวายตัวกับรัชกาลที่ ๕ แล้ว เมื่อพระเจ้าอินทวิชานนท์จะเสด็จกลับเชียงใหม่ ได้ฝากฝังเจ้าดารารัศมีกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้ว่า

“เสด็จเจ้า ข้าเจ้าฝากนางอึ่งด้วยเน้อ ถ้าทำอันหยังบ่ถูกบ่ต้อง เสด็จเจ้าจงเรียกตัวมาเกกหัวเอาเตอะ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงตอนนี้ด้วยทรงพระสรวลว่า

“จะเขกหัวได้อย่างไร เมื่อเป็นพี่สะใภ้”

ในระหว่างที่ประทับในพระบรมมหาราชวังนี้ ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงความรักเสน่หาระหว่างสมเด็จพระปิยมหาราชกับเจ้าดารารัศมี แต่ใน พ.ศ.๒๔๕๑ หลังจากเจ้าอินทวิชานนท์ถึงพิราลัยแล้ว เจ้าอินทวโลรสสุริยงค์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครต่อ ได้เสด็จลงมากรุงเทพฯ เจ้าดารารัศมีทรงปรารภว่าพระองค์ก็มีพระชันษาเกินวัยคะนองแล้ว มีพระประสงค์จะกราบถวายบังคมลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนกับพระเชษฐาสักครั้งหนึ่ง และเมื่อนำความนี้ขึ้นกราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และโปรดเกล้าฯให้จัดงานพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศเจ้าดารารัศมีขึ้นเป็น “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” ในตำแหน่งพระอัครมเหสี

ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๑ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จขึ้นไปกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยู่หัวบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงเปลือยพระเกศาออกเช็ดพระบาทด้วยความจงรักภักดี ทั้งสองพระองค์ทรงอาลัยรักที่จะต้องจากกัน และเมื่อพระราชชายาเสด็จกลับไปพระตำหนักแล้ว ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตามไปทันทีว่า

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗

ดารา

นั่งนึกว่าป่านนี้คงไปถึงที่พักแล้ว เพราะบ่าย ๕ โมงตรง ได้นึกจะส่งของไปทำบุญ แต่รุงรังนักก็จะพาไปลำบาก จะสั่งก็เผอิญมีการชุลมุน บัดนี้ให้กรมพระสมมตฯ จัดไตรแพร ๙ ไตรส่งขึ้นมา ขอให้บังสุกุลพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ๓ ไตร พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ๓ ไตร เจ้าทิพเกสร ๓ ไตร ขอให้นิมนต์พระราชาคณะ พระครู และครูบา ที่เป็นผู้ใหญ่ชักผ้าไตรนี้ อุทิศให้ท่านทั้ง ๓ ผู้ได้มีความรักใคร่คุ้นเคยกันมา

การที่จะไปนี้ เป็นระยะทางไกลให้เป็นห่วง ด้วยเป็นเวลาต่อฤดูกำลังจะเปลี่ยน ถ้าเจ็บไข้ขอให้เร่งรักษาก่อน อย่าทอดทิ้งไว้มากแล้วจึงรักษา กันเสียดีกว่ารักษาเมื่อเป็นมากแล้ว

ขออำนวยพรซ้ำอีกให้เป็นสุขสบายอย่าเจ็บไข้ ขอฝากความคิดถึงและความอาลัยที่กำลังผูกอยู่ในใจเวลานี้มาด้วย ถ้าจะมีความปรารถนาอันใด หรือไปดีประการใด ขอให้บอกข่าวมาให้ทราบตามที่จะบอกได้ด้วย

(พระปรมาภิไธย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.

การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ตอนนั้นลำบากมาก พระราชชายาเสด็จโดยรถไฟที่สถานีสามเสน มีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไปส่งจำนวนมาก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปส่งถึงปากน้ำโพ ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟสายเหนือในขณะนั้น แล้วเสด็จลงเรือแม่ปะเป็นขบวนใหญ่ราว ๕๐ ลำ พร้อมด้วยเจ้าอินทวโลรสสุริยวงศ์ พระเชษฐา และบรรดาข้าราชบริพาร ทวนกระแสน้ำขึ้นไปตามลำน้ำปิง เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ลงมารับเสด็จที่ตำบลสบแจ่ม ระยะทางเรือ ๗ คืนถึงเชียงใหม่

เมื่อไปถึงเวียงพิงค์ ปรากฏว่ามีของขวัญพระราชทาน เนื่องในวันประสูติ ๓ รอบ ส่งมาทางบกถึงก่อนแล้ว เป็นหีบพระศรีทองคำลงยา มีพระปรมาภิไธย จ.ป.ร.ประดับเพชรที่หลังหีบ และมีคำจารึกในหีบว่า

วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗

ดารา

ด้วยนึกถึงอายุเจ้าเต็มสามรอบ ได้คิดไว้แล้วว่าจะให้ของขวัญ เผอิญประจวบเวลาไม่อยู่ จะให้ก่อนขึ้นไปทำไม่ทัน จึงได้จัดของส่งขึ้นมา ด้วยหวังว่าจะได้รับที่เชียงใหม่ไม่ช้ากว่าวันที่ไปถึงเท่าใด ขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาวหายเจ็บไข้ กลับลงมาโดยความสุขสบายทุกประการ ขอให้ดูหนังสือที่เขียนไว้ข้างในหลังหีบหน่อย เผลอไปจะไม่ได้อ่าน ขอบอกความคิดถึงอยู่เสมอไม่ขาด ตัวไปเที่ยวเองทิ้งอยู่ข้างหลังไม่ห่วง แต่ครั้นเจ้าจากไปรู้สึกเป็นห่วงมากจริงๆ

(พระปรมาภิไธย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.

เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จไปถึงเชียงใหม่ มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน รวมทั้งชาวต่างประเทศ จัดขบวนแห่ต้อนรับเข้าเมืงถึง ๓๐ ขบวน และตั้งเครื่องบูชารับเสด็จตลอดเส้นทางถึงคุ้มหลวงที่ประทับ

ม.จ.พูนพิสมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ว่า ถ้าจะกล่าวว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเป็นเจ้าหญิงองค์ที่ ๒ จากพระนางจามเทวี ที่ทรงได้รับเกียรติจากการแห่แหนเข้าเมืองในภาคพายัพ ก็เห็นจะไม่ผิด

พระราชชายาประทับอยู่เชียงใหม่ ๖ เดือน ๘ วัน เสด็จไปเยี่ยมพระประยูรญาติถึงเมืองลำพูน ลำปาง โดยต้องเสด็จไปโดยขบวนช้างและม้า ทรงอัญเชิญพระอัฐิพระญาติผู้ใหญ่มาบรรจุไว้ที่กู่วัดสวนดอกด้วยกัน และจัดงานฉลองอุทิศส่วนกุศลถวายพระราชกุศลแด่พระบุพการีถึง ๑๕ วัน ๑๕ คืน

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จออกจากเชียงใหม่ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๒ เพื่อกลับกรุงเทพฯ โดยมีขบวนเรือเสด็จถึง ๑๐๐ ลำล่องลงมาส่งถึงเมืองอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จไปรับ และลงมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน ๒ ราตรี พระราชทานทองพระกรเพชรเป็นของขวัญ และได้สร้างพระตำหนักหลังใหม่ที่พระราชวังสวนดุสิตพระราชทานอีกแห่ง

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสดจกลับกรุงเทพฯได้เพียง ๑๐ เดือน สมเด็จพระปิยมหาราชก็เสด็จสวรรคต พระราชชายาประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังถึง พ.ศ.๒๔๕๗ เจ้าแก้วนวรัฐ พระเชษฐา เสด็จลงมากรุงเทพฯ พระราชชายาจึงกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ขึ้นไปประทับที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดขบวนเสด็จเช่นเดียวกับเสด็จกลับครั้งก่อน มีข้าราชการในพระราชสำนักตามเสด็จครบถ้วน และผลัดกันอยู่เป็นประจำ จนพระราชชายาทรงเห็นว่าเป็นการลำบากแก่ข้าราชการโดยไม่จำเป็น จึงขอให้งดเสีย เพราะมีพระญาติราชวงศ์ทางเหนือดูแลอยู่แล้ว

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกลับไปประทับที่เชียงใหม่ นอกจากจะเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวเหนือแล้ว ยังทรงศึกษาค้นคว้าโบราณคดีของเมืองเหนือ ตรวจสอบกับที่พงศาวดารบันทึกไว้ และเสด็จไปในแดนทุรกันดารจนถึงชายแดน แม้ในขณะนั้นถนนหนทางยังไม่มีหรือไม่สะดวก ก็เสด็จไปอย่างไม่ย่อท้อ แม้บางครั้งต้องเสด็จด้วยม้า โดยเสด็จถึงแม่ฮ่องสอน แล้วล่องแม่น้ำสาละวินลงมาถึง ๓ คืน ขึ้นประทับตามหมู่บ้านกะเหรี่ยง จนมาถึงแม่สะเรียง แล้วขึ้นทอดพระเนตรดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดในประเทศขณะที่ยังไม่มีถนนขึ้น ทรงจารึกพระนามไว้ที่ก้อนหินเป็นที่ระลึก และประทับอยู่บนยอดดอยที่อากาศเย็นจัด ๒ คืน จากนั้นเสด็จลงมาทางอำเภอฝาง หยุดทอดพระเนตรไร่ฝิ่นของพวกแม้วบนดอยอ่างขาง แล้วเสด็จไปเชียงราย ทอดพระเนตรการโพนช้างที่อำเภอเทิง และการจับช้างในเพนียดที่เชียงแสน ทอดพระเนตรเขตแดนสยามกับอังกฤษและฝรั่งเศสทางแม่น้ำโขง ทอดพระเนตรการจับปลาบึก เสด็จไปนมัสการพระธาตุดอยตุง ก่อนจะเสด็จกลับเชียงใหม่ ดูเส้นทางเสด็จซึ่งในยุคนั้นล้วนแต่เป็นทางทุรกันดารไม่มีถนน ก็จะเห็นว่าทรงเป็นขัติยนารีเพียงใด

พระราชชายาทรงได้รับการยกย่องว่า รอบรู้พงศาวดารและโบราณคดีของภาคพายัพเป็นอย่างดี แม้แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เคยตรัสถามเรื่องพงศาวดารเชียงใหม่จากพระราชชายาอยู่เสมอ

เมื่อได้ทรงศึกษาค้นคว้าโบราณคดของถิ่นเหนือได้จนพอพระทัยแล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา รวมทั้งทรงปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุบนดอยสุเทพ และถวายพระตำหนักบนดอยสุเทพแก่พระบรมธาตุด้วย

เมื่อพระราชชายาทรงมีพระชันษาเข้าปัจฉิมวัยแล้ว ได้เสด็จไปปลูกตำหนักที่ประทับที่นานอกเมืองของอำเภอแม่ริม ซึ่งต่อมาเป็น “ค่ายดารารัศมี” ของกองกำกับการ ตชด.อยู่ระยะหนึ่ง ทรงเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆหวังจะให้เป็นแบบอย่างแก่ราษฎร ประทานความรู้และพันธุ์ให้

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ไม่เคยมีพระโรคร้ายอันใด จนในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ จึงเริ่มประชวรด้วยโรคพระปัปผาสะ (ปอด) ขณะประทับที่ตำหนักดาราภิรมย์ แม่ริม แพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศในเมืองเชียงใหม่ถวายการรักษาอย่างเต็มความสามารถ แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้ พล.อ.พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสด็จขึ้นไปฟังพระอาการ และพระราชทานด้ายสายสิญจน์สำหรับผู้ข้อพระหัตถ์เป็นการทำขวัญ กับเงิน ๕,๐๐๐ บาทเพื่อทรงช่วยรักษา ในเวลานั้นเครื่องเอกซเรย์ยังไม่มี พระประยูรญาติกับข้าเฝ้าทั้งหลายจึงช่วยกันรวมทุนสั่งซื้อเครื่องเอกซเรย์จากเกาะชวามาทางเครื่องบิน เพื่อช่วยแพทย์ในการรักษา แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น เพราะปรากฏผลในเอกซเรย์ว่าพระปัปผาสะพิการไปทั้ง ๒ ข้างแล้ว

ถึงวันที่ ๙ ธันวาคมต่อมา หลังจากประชวรมาได้ ๕ เดือน ๙ วัน พระราชชายาดารารัศมีก็สิ้นพระชนม์ ขณะพระชนมายุได้ ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑ วัน

ปิดฉากชีวิตของเจ้าหญิงเมืองเหนือเพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ ซึ่งเปนที่เสน่หาของสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงได้รับยกย่องขึ้นในระดับ “พระมเหสีเทวี”


พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับพระญาติเมืองเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น