xs
xsm
sm
md
lg

พระราชดำริ “ในหลวง ร.๙” พัฒนาแม่กำปอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยึดพระราชดำริ “ในหลวง ร.๙” พัฒนาแม่กำปอง ช่วยให้คุณภาพชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ด้าน สวธ. หนุนชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามโครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ว่า สวธ. มีแนวทางผลักดันหมู่บ้านแม่กำปองเข้าสู่โครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ปี 2560 ซึ่งจากการหารือกับ นายพรมมินทร์ พวงมาลา ผู้นำชุมชนบ้านแม่กำปอง พบว่า หมู่บ้านแม่กำปองมีเรื่องราวทางธรรมชาติ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาชุมชนที่เชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะ มหัศจรรย์ใบเมี่ยงซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาสกัดเป็นชารักษาโรคความดันโลหิตอีกทั้งชาวบ้านที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วบริโภคใบเมี่ยงเป็นประจำนั้นไม่พบว่าเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งขณะนี้ทางหมู่บ้านกำลังวิจัยใบเมี่ยง เพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคและกำลังจะมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ชุมชนที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับใบเมี่ยง และข้อมูลชุมชนแม่กำปองด้วย นอกจากนี้ สวธ. จะดึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดความน่าสนใจ โดยเฉพาะภูมิปัญญาการสร้างบ้านไม้แต่ละหลังมีการติดป้ายสร้างจุดขายให้ชุมชน อาทิ ต้นกำปองซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านป้ายบอกทาง และสถานที่ต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งจะมีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวทางในหมู่บ้านและจัดอบรมมัคคุเทศก์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวจะต้องทำประชาพิจารณ์ ร่วมกับชาวบ้านว่าเห็นด้วยหรือไม่ด้วย

นายอนันต์ ไทยกรณ์ กรรมการหมู่บ้านแม่กำปอง กล่าวว่า จากที่ได้หารือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ทำให้ทราบถึงแนวทางการใช้วิถีวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิหลังท้องถิ่นเพื่อสร้างเอกลักษณ์ความภูมิใจแก่คนรุ่นหลังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีดั้งเดิม โดยจะให้ความสำคัญกับประวัติความเป็นมาของชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาหมู่บ้านนับจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร เมื่อปี 2524 และทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาหมู่บ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่สีชมพูที่ประสบปัญหาด้านความมั่นคงโดยให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคงด้วยการปลูกใบเมี่ยงแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น และมีพระราชดำริให้ใช้ต้นน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองในหมู่บ้านและยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

“อยากจะให้ทางการเข้ามาเติมองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เมี่ยงเพื่อเป็นแหล่งศึกษาชุมชนให้คนรุ่นหลังและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา อีกทั้งขณะทางหมู่บ้านยังได้ดำเนินการจัดสร้างเขาวงกตที่เป็นประเพณีดั้งเดิมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สื่อถึงการมีจิตสำนึกได้ตั้งจิตอธิษฐานในขณะขึ้นเขาวงกต และได้กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมายาวนาน” นายอนันต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น