xs
xsm
sm
md
lg

ออกประกาศ 5 กลุ่มคน ห้ามดื่ม “เหล้า” เด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


19 องค์กรสาธารณสุข จัดทำประกาศ 5 กลุ่ม ห้ามดื่ม “เหล้า” เด็ดขาด ชี้ “เด็ก - เยาวชน” เสี่ยงสมองถูกทำลาย “หญิงตั้งครรภ์ให้นมลูก” เสี่ยงแท้งได้ กลุ่มขับรถ - ทำงานกับเครื่องจักร ห้ามดื่มก่อนทำงาน 6 ชั่วโมง เหตุหลังดื่มแอลกอฮอล์ในเลือดสูงปรี๊ดใน 45 นาที ใช้เวลา 6 ชั่วโมงในการกำจัด รวมคนมีโรคประจำตัว และคนไม่ดื่มอยู่แล้ว

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในเวทีเสวนา “ข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา ใครไม่ควรดื่ม” จัดโดย 19 องค์กรด้านสุขภาพ อาทิ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นต้น นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการ สสส. และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานวิชาการใหม่ๆ ออกมาแสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสร้างปัญหาให้สังคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 3.3 ล้านคนทั่วโลก และทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ และการบาดเจ็บมากกว่า 200 ชนิด รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ และเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่คร่าชีวิตผู้ดื่มและเหยื่อผู้บริสุทธิ์ เกิดปัญหาสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัว คดีอาชญากรรม ที่วงวิชาการทั่วโลกบัญญัติศัพท์ว่า “ภัยเหล้าต่อผู้อื่น” เนื่องจากผู้ไม่ดื่มต้องมารับผลพวงจากการดื่มของคนอื่น

“ขณะนี้ สธ. ร่วมกับ สสส. ศวส. ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ สมาคมองค์กรวิชาชีพ และแพทยสมาคม จัดทำคำแนะนำเพื่อเตือน 5 กลุ่มคนที่ไม่ควรดื่มเด็ดขาด คือ 1. เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 2. หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร 3. ผู้มีอาชีพขับรถและทำงานกับเครื่องจักรกล 4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด สมอง โรคทางจิต ฯลฯ และ 5. ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่มอยู่แล้ว ควรงดดื่มต่อไปและไม่ควรริเริ่มดื่ม เพราะองค์การอนามัยโลกไม่รับรองว่า ดื่มน้อยขนาดใดที่จะปลอดภัยต่อสุขภาพ และอย่าเชื่อข้อมูลผิดๆ ทางสังคมออนไลน์ว่า แอลกอฮอล์ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเผยแพร่ประกาศเตือนทุกคนให้ตระหนักถึงอันตราย หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาช่วยควบคุมส่วนที่ยังเป็นปัญหา ท้องถิ่นและทุกชุมชนต้องร่วมมือเปลี่ยนค่านิยมจากที่เห็นว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ มาเป็นการดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและก่อปัญหาต่อสังคมไทย” นพ.คำนวณ กล่าว

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผอ.ศวส. กล่าวว่า สมองเด็กและเยาวชนยังเจริญเติบโต มีการพัฒนาได้จนอายุ 25 - 30 ปี การปกป้องสมองให้ได้รับอันตรายน้อยที่สุดจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้พัฒนาตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ แต่การดื่มทำให้การตัดสินใจต่างๆ แย่ลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ก่อให้เกิดปัญหา ทั้งขาดเรียน ทะเลาะวิวาท ขับขี่ยานพาหนะแล้วเกิดอุบัติเหตุ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน บังคับ หรือถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ การฆ่าตัวตาย และการใช้สารเสพติด และการดื่มของเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุน้อยยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดแอลกอฮอล์ การบาดเจ็บ และการตายก่อนวัยอันควร

“ที่น่าห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ หากดื่มจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสติปัญญาและพฤติกรรมทารก เช่น การคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร และทารกตายกะทันหัน ที่รุนแรงที่สุด ได้แก่ Fetal alcohol spectrum disorders (FASD) เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำลายสมองของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาได้อย่างถาวร ทำให้สมองพัฒนาผิดปกติ ทารกที่เป็นโรคนี้จะมีใบหน้าที่มีรูปร่างผิดปกติ การเจริญเติบโตบกพร่องทั้งในช่วงก่อนคลอดและหลังคลอด มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดความพิการหรือความบกพร่องในการทำหน้าที่ต่างๆ และทารกที่รับนมจากมารดาจะมีโอกาสได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปด้วย ทำให้มีปัญหาในการนอนหลับและพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสังคมของเด็กต่อไปในอนาคต เช่น ออกจากโรงเรียนกลางคัน การใช้สารเสพติด พฤติกรรมเกเร ก่ออาชญากรรม มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย กล่าว

ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคม กล่าวว่า หลังการดื่มระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 45 นาที และจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง จึงจะกำจัดออกหมดจากร่างกาย ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ความเข้มข้นประมาณ 50 - 99 mg% จะทำให้ความคิดและการตัดสินใจเสียหาย ส่งผลต่อระบบประสาท การนึกคิด การตัดสินใจ การประสานประสาทและกล้ามเนื้อ เสียสมาธิ ทำให้ควบคุมยานพาหนะหรือเครื่องจักรเครื่องยนต์ไม่ได้ จึงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิตต่อตัวเองและผู้อื่น ทั้งนี้ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่เกิน 50 mg% ในผู้ขับขี่ยานพาหนะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ยังเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย การดื่มปริมาณมากต่อครั้งหรือการดื่มหนักเพิ่มความเสี่ยงทั้งร่างกายและจิตใจ โรคภัยต่างๆ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การเคลื่อนไหวและการดูดซึมสารอาหารและวิตามินบางชนิดผิดปกติ ไขมันสะสมในเนื้อตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย หรือเกิดมะเร็งตับ หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง มะเร็งในระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น ช่องปากคอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไส้ตรง ตับ ตับอ่อน เต้านม และต่อมลูกหมาก

“ผู้ที่ติดเหล้ายังเพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตาย โรคติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคสมอง โรคไต โรคตับ เจ็บป่วยหนักขึ้น หากดื่มสุราร่วมกับใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กดประสาท ทำให้วิงเวียนศีรษะ เสี่ยงได้รับยาเกินขนาด รวมถึงเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างยาที่ใช้กับแอลกอฮอล์ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาแก้ไอ ยารักษาโรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลมชัก โรคข้อ โรคทางจิตเวช โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคต่อมลูกหมากโต โรคกระเพาะอาหาร โรคติดเชื้อ อาการปวด และอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องจัดทำคำเตือนเพื่อแนะนำผู้ที่ไม่ควรดื่มสุราอย่างเด็ดขาด” ศ.นพ.สารเนตร์ กล่าว

นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่อดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หลังจากนี้ สธ. จะขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการในการเฝ้าระวังและให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์รอบสถานศึกษา กระทรวงแรงงาน ในการห้ามแรงงานต่างๆ ดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์ภายใน 6 ชั่วโมงในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร กระทรวงคมนาคม ให้ความรู้แก่ผู้มีอาชีพขับรถ ไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์ในช่วง 6 ชั่วโมง และเพิ่มข้อสอบเกี่ยวกับโทษการดื่มสุราในข้อสอบใบขับขี่ ส่วน สธ.จะให้ความสำคัญในเรื่องหญิงตั้งครรภ์และผู้มีโรคประจำตัว และวันที่ 17 มี.ค. นี้ จะเสนอ 5 แผนยุทธศาสตร์ต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 1. ควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และกายภาพ โดยจะขอความร่วมมือไปยังกรมสรรพสามิตให้เพิ่มภาษีโดยรวมและค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพราะเชื่อว่าหากมีราคาสูงขึ้นจะลดจำนวนการหาดื่มได้ 2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ค่านิยม และลดแรงสนับสนุนการดื่ม โดยจะรณรงค์ปรับทัศนคติเยาวชน และเพิ่มรูปภาพโรคต่างๆ ที่เกิดจากการดื่มบนฉลากเครื่องดื่มแอกอฮอล์ 3. ลดอันตรายของการบริโภค ออกกฏหมายควบคุมการจัดโปรโมชันต่างๆ ในเทศกาล และวันพระใหญ่ 4. การจัดการปัญหาในระดับพื้นที่จะมีการถอดบทเรียนจากชุมชนต้นแบบ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนนโยบายระดับชุมชนให้เข้มแข็ง และ 5. พัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนที่เข้มแข็ง เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบ สธ. จะออกประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อแนะนำผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น