xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกทักษะชีวิต “ลูก” รู้จักใช้เหตุผล-ไม่หนีปัญหา ป้องกัน “ฆ่าตัวตาย” ในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตแนะสร้างทักษะชีวิตรอบด้านแก่ “เด็ก” ช่วยรู้จักแก้ปัญหา หาทางออกที่ดีเป็น ฝึกคิดการใช้เหตุและผล ช่วยป้องกัน “การฆ่าตัวตาย” ในอนาคตได้

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการทำร้ายตัวเองของเด็กและเยาวชนไทยที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสนใจ และสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทัน ก่อนเกิดความสูญเสียต่างๆ ตามมา สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่การทำร้ายตนเอง เกิดจากภาวะอารมณ์ที่กดดัน และมีเหตุจากตัวกระตุ้นหลายด้านที่อาจสั่งสม เช่น ปัญหาการเรียน การถูกเพื่อนล้อ ถูกรังแก กีดกัน เพื่อนไม่คบ ปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัว ถูกกดขี่ หรือ ถูกพ่อแม่ดุด่า หรือถูกทำโทษเสมอ ปัญหาเรื่องความรัก และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่มาประกอบกัน รวมทั้ง อาจมีภาวะซึมเศร้ามาก่อน หรืออาจเคยมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน เป็นต้น

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตาย สามารถป้องกันได้ และส่วนใหญ่มักมีสัญญาณบอกเหตุ สังเกตได้จาก สัญญาณเตือนที่ตรงไปตรงมา เช่น การพูดจาในลักษณะที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากตาย หรือสัญญาณเตือนทางอ้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังเจอกับปัญหา โดยมักจะเก็บตัว เซื่องซึม ไม่ออกพบปะผู้คน ในเด็กโตและวัยรุ่นอาจสังเกตได้จากการที่เด็กมีผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้สารเสพติด หรือดื่มสุรา การกินการนอนเปลี่ยนไปจากเดิม เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน อารมณ์ไม่แจ่มใส มองโลกในแง่ลบ คิดเรื่องตายบ่อยๆ หรือมีอารมณ์โมโหรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เป็นต้น ขออย่านิ่งนอนใจ เปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุย ระบายปัญหาให้ฟัง คอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้าง พร้อมให้การช่วยเหลือ เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นและรู้สึกได้ว่าไม่โดดเดี่ยว แต่หากไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กได้แล้ว ให้รีบส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ

“การป้องกันปัญหาในระยะยาว ที่สำคัญคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แกห่พวกเขาตั้งแต่เด็ก ด้วยการฝึกทักษะชีวิตอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะในการแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ หาทางออกที่เป็นไปได้ ไม่หนีปัญหา ลงมือแก้ไขจนสำเร็จ อดทน ต่อสู้กับชีวิต เอาชนะปัญหาและอุปสรรคได้ ซึ่งอาจฝึกทักษะผ่านการเล่นบทบาทสมมติ การเล่านิทาน หรือใช้ภาพยนตร์ ละคร หรือข่าว มาเป็นกรณีศึกษา โดยอาจใช้คำถามง่ายๆ เช่น ถ้าเราเจอปัญหาเหมือนกับคนที่อยู่ในข่าวจะหาทางออกอย่างไร มีทางเลือกอื่นอีกไหม เป็นต้น เป็นการช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ ฝึกการใช้เหตุและผล ตลอดจนขยายกรอบความคิดของพวกเขาให้กว้างไกลกว่าเดิมได้มากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น