ศวส.- สสส. เสนอ 6 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล หนุนแก้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก เพิ่มอายุห้ามผู้ใดให้เด็กดื่มสุรา จาก 18 ปี เป็น 20 ปี พร้อมแก้ไข พ.ร.บ. เหล้า ห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ ขีดเส้นโซนนิงรอบสถานศึกษา - ที่สาธารณะ ขอยกเว้น “สุรา - เบียร์” อยู่นอกการตกลงการค้าเสรีทุกฉบับ
วันนี้ (25 พ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 9 “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชนให้พ้นภัยสุรา” จัดโดย ศวส. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ว่า การดื่มสุราของเด็กและเยาวชนไทยเริ่มต้นที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นประมาณ 1 ล้านคนต่อปี (อ้างอิงจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557) ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งกับตัวเด็ก ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาและปลูกฝังทัศนคติที่ผิดว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เนื่องจากมีร้านจำหน่ายจำนวนมากในพื้นที่ที่เยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ เช่น รอบสถานศึกษา ชุมชน และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเริ่มดื่มสุราที่อายุน้อยและการดื่มหนักของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า ขอประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยที่ปลอดภัยจากอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้ 1. ให้คนไทยทุกคนร่วมแสดงฉันทามติให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีต้องไม่ริเริ่มดื่มสุรา 2. ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากเดิมกำหนดห้ามผู้ใดให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเป็น อายุ 20 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 3. ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในมาตรา 32 ให้ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง และเร่งออกมาตรการห้ามจำหน่ายสุรารอบสถานศึกษาทุกประเภท (โซนนิง) อย่างเป็นรูปธรรม และสถานที่สาธารณะที่เยาวชนเข้าไปใช้
4. ให้รัฐบาลพิจารณาการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะๆ พร้อมเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างจริงจัง 5. ให้ปฏิรูปการศึกษามุ่งสู่การแก้ปัญหาการใช้สุรา ยาสูบ และสารเสพติดในเด็กและเยาวชน และให้หน่วยงานการศึกษามีระบบการดูแล เฝ้าระวัง และให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการดื่มสุรา และลดผลกระทบที่ตามมาด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล และ 6. การทำข้อตกลงการค้าเสรี ต้องไม่ทำให้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อ่อนแอลง โดยให้ยกเว้นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากการเจรจาการค้าเสรีทุกประเภท เป็นอิสระจากธุรกิจแอลกอฮอล์ข้ามชาติ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการดื่มสุราเป็นลำดับแรก
“พวกเราในฐานะนักวิชาการ และตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมั่นว่า รัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมไทยทุกภาคส่วนพร้อมที่จะพิจารณาดำเนินการในข้อเรียกร้องตามเจตนารมณ์อย่างจริงจัง เนื่องจากเยาวชนในวันนี้ คือ ผู้ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติในอนาคต การปกป้องเด็กและเยาวชนให้พ้นภัยสุราเป็นหน้าที่ของพวกเราคนไทยทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และตัวเด็กและเยาวชนเอง” ผู้อำนวยการ ศวส. กล่าว