นักวิทย์ชี้ “ขนมควันทะลัก” ใช้ “ไนโตรเจนเหลว” สร้างควันให้กับอาหาร ยันไม่อันตราย รับประทานได้หลังไนโตรเจนเหลวระเหยจนหมด แต่ต้องระวังอย่าสัมผัสไนโตรเจนเหลวโดยตรง เสี่ยงถูกความเย็นกัด สูดดมมากเกินไปทำหมดสติ เป็นอันตรายต่อสมองได้
จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาเตือนถึงขนมยอดฮิตตัวใหม่ ที่เรียกว่า “ขนมควันทะลัก” โดยระบุว่าร้านค้ามีการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการทำขนมให้เกิดควัน เพื่อlร้างความแปลกใหม่และดึงดูดลูกค้า ซึ่งในต่างประเทศมีวัยรุ่นที่เคยรับประทานอาหารที่มีไนโตรเจนเหลวเข้าไปแล้วเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุ
วันนี้ (23 พ.ย.) ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ไนโตรเจนเป็นก๊าซที่ไม่มีอันตราย เพราะในอากาศที่เราหายใจกันอยู่ก็มีปริมาณก๊าซไนโตรเจนสูงมากที่สุดถึง 79% ส่วนไนโตรเจนเหลว คือ ก๊าซไนโตรเจนที่ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบละอองน้ำที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่พอสมควร ทำให้แสงผ่านไม่ได้ เราเลยเห็นเป็นหมอกควันที่สัมผัสแล้วจะรู้สึกเย็นๆ เพราะมีความเย็นที่สูงมาก มีจุดเดือดที่จะเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นไอที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส
“จริงๆ แล้วการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้กับอาหารไม่มีอันตรายเลย เพราะจะระเหยไปหมด ปัจจุบันจึงนิยมนำมาใช้ในการถนอมอาหาร แต่การใช้กับอาหารนั้นต้องดูที่ความบริสุทธิ์ของไนโตรเจนเหลวที่ร้านค้านั้นเลือกซื้อมาใช้ด้วย เพราะมีหลายคุณภาพหลายราคา ไนโตรเจนเหลวที่บริสุทธิ์จริงๆ 99.99% ราคาจะสูงและไม่มีสิ่งเจือปน แต่ถ้าเป็นไนโตรเจนเหลว 98% อาจจะมีสิ่งเจือปนอย่างอื่นที่เราไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ รวมอยู่ได้ ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าอะไรก็ตามที่เราใช้ สัมผัส และกินเข้าไปนั้นคืออะไร มีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร เพื่อจะได้ระมัดระวัง และปฏิบัติให้เหมาะสม อย่างการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนเหลว สิ่งสำคัญคือ ต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยหมดไปเสียก่อนจึงสามารถรับประทานได้” ดร.วรวรงค์ กล่าว
ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคขนมลักษณะดังกล่าว ควรระมัดระวังใน 2 ประเด็น คือ 1. การสัมผัสโดยตรงกับไนโตรเจนเหลวขณะที่ยังเป็นของเหลว และ 2. การสูดดมก๊าซไนโตรเจน เพราะหากสัมผัสกับไนโตรเจนเหลว จะทำให้ผิวหนังถูกเผาไหม้ เนื่องจากไนโตรเจนเหลวถ้าสัมผัสผิวหนัง หรือรับประทานเข้าไปในปริมาณมากๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่ไนโตรเจนเหลวก็ไม่สามารถระเหยหายไปได้ในทันที ทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณผิวหนังได้ เรียกว่า Nitrogen Burn หรือการเผาไหม้จากไนโตรเจนเหลว ส่วนการสูดดมก๊าซไนโตรเจนเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ควันที่ระเหยออกมาของไนโตรเจนเหลวไม่ควรสูดดมในปริมาณมาก เพราะในอากาศมีก๊าซไนโตรเจนสูงมากอยู่แล้ว ถ้าสูดดมเข้าไปเพิ่มอีกอาจทำให้ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ เพราะร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นมาให้รับไนโตรเจนในอากาศได้มากถึง 80% และรับออกซิเจนเพียง 20% หากสูดดมไนโตรเจนเข้าไปมากขึ้นอีก จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และเป็นอันตรายต่อสมองได้
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไนโตรเจนเหลวไม่ได้เป็นอันตราย เพราะมีการระเหยที่รวดเร็ว สามารถทำมาใช้กับอาหารได้ เพียงแต่ต้องรอให้ระเหยหมดก่อน คนที่จะได้รับอัตรายไม่ใช่ผู้บริโภค แต่เป็นผู้ประกอบอาหาร เพราะมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับไนโตรเจนเหลว ซึ่งหากสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง จะทำให้ผิวหนังถูกกัดจากความเย็น คล้ายกับถูกหิมะกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง