xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ขอ ปชช.ร่วมกำจัด “ลูกน้ำยุงลาย” ทุกสัปดาห์ ป้องกัน “ซิกา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ยัน “ซิกา” ไม่ระบาดในวงกว้าง ป้องกันได้ ไม่ให้ยุงกัด ย้ำกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ สกัดพาหะของโรค

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทั่วประเทศ รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ด้วยมาตรการ 3 เก็บ เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค 3 โรคสำคัญ คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หากสามารถตัดวงจรของยุงลาย จะช่วยลดจำนวนยุงตัวแก่ลง ช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคจากยุงลายประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นอีกโรคที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมากจนจนผู้ป่วยไม่ทราบว่าป่วย โรคนี้ไม่อันตรายต่อคนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง แต่อาจมีผลต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาหากได้รับเชื้อในช่วงที่ตั้งครรภ์มีโอกาสให้กำเนิดทารกศีรษะเล็ก รวมทั้งอาจพบกลุ่มทางระบบประสาท ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้น หากพบผู้ติดเชื้อทีมสวบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วพร้อมควบคุมโรคทันที ขอประชาชนมั่นใจ

นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับยุทธ์ศาสตร์การทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู รวมทั้งแผนดูแลเด็กศีรษะเล็กอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย กระจายใน 12 จังหวัดในบางอำเภอเท่านั้น

“ยืนยันโรคนี้ไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ป้องกันได้ด้วยการไม่ให้ยุงกัด หากมีไข้ออกผื่น รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการคัดกรองโรค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ประชาชนในพื้นที่เดียวกันกับผู้ป่วย ไม่ต้องกลัว หรือรังเกียจผู้ป่วย ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โรคนี้ไม่ติดต่อทางการสัมผัสและไม่ติดต่อทางลมหายใจ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องจริงจัง”

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ล่าสุด เมื่อ16 พฤศจิกายน 2559 สำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะ พบว่า ยังมีลูกน้ำยุงลายในภาชนะต่างๆ ในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะที่ศาสนสถาน พบมากถึงร้อยละ 85.71 โรงเรียน พบร้อยละ 63.64 โรงแรม พบร้อยละ 25 โรงงาน พบร้อยละ18.18 ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่ถูกทิ้งไว้ เช่น ยางรถยนต์ กระถางต้นไม้ เมื่อฝนตก หรือรดน้ำต้นไม้มีน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เติบโตเป็นยุงตัวแก่ ส่งผลให้โอกาสพบผู้ป่วยด้วยโรคจากยุงลายเป็นพาหะได้จำนวนมากและพบได้ตลอดปี ตามปริมาณของยุงลายที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น