xs
xsm
sm
md
lg

“นครปฐม-เพชรบุรี” 2 พื้นที่ติดเชื้อ “ซิกา” ใหม่ ในรอบสัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เผย สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยซิการายใหม่ 33 ราย พบ นครปฐม - เพชรบุรี 2 จังหวัด ติดเชื้อใหม่ ด้านไข้เลือดออกพบป่วยเพิ่มในรอบสัปดาห์เกือบ 1,500 ราย

วันนี้ (15 พ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ช่วงวันที่ 4 - 11 พ.ย. 2559 พบผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย กระจายใน 12 จังหวัด โดยพื้นที่ติดเชื้อใหม่ 2 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม และ เพชรบุรี ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแต่ละสัปดาห์มีความใกล้เคียงกัน และสามารถควบคุมโรคได้ โดยพบผู้ป่วยบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 11 พ.ย. 2559 พบผู้ป่วยสะสม 686 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว ส่วนการเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น ในขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 68 ราย คลอดแล้ว 21 ราย ทารกทุกรายมีอาการปกติ ซึ่งทุกรายจะมีการติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องจนกว่าจะคลอด

“ช่วงนี้ในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกและมีน้ำขัง ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจำนวนมาก และอาจพบผู้ป่วยในพื้นที่อื่นๆ ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และมีระบบการตรวจที่แม่นยำและส่งตัวอย่างตรวจมากขึ้น ทำให้การตรวจจับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่ยังไม่เคยพบผู้ป่วยด้วย” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงปัจจุบันพบผู้ป่วย 54,008 ราย เสียชีวิต 51 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ สงขลา ปัตตานี พัทลุง แม่ฮ่องสอน และ นราธิวาส ตามลำดับ ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,446 ราย สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย มีจำนวนผู้ป่วย 16 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงของหญิงตั้งครรภ์ ขอให้ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับการประเมินด้านประสิทธิภาพแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ไล่แมลงชนิดสารธรรมชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูลด้านประสิทธิภาพ ซึ่งหลักการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ถี่เกินไป รวมถึงไม่ควรใช้บริเวณผิวหนังส่วนที่มีเสื้อผ้าปกคลุมไว้แล้ว กรณีใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์กันแดด ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง
กำลังโหลดความคิดเห็น