เปิดชื่อผู้รับรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ปี 2559 “เซอร์เกรกอรี” จากวิทยาลัยทรินิตี คว้าสาขาการแพทย์ จากการพัฒนาแอนติบอดีเสมือน ลดการต่อต้านของร่างกาย ส่วน “หมอวลาดิเมียร์” จาก ม.เวสเทิร์น ออนตาริโอ รับรางวัลสาขาการสาธารณสุข จากงานการดูแลโรคหลอดเลือดสมอง
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่โรงพยาบาลศิริราช ในการแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 25 ประจำปี 2559 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า ในปีนี้มีการเสนอรายชื่อเข้ารับการพิจารณารับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน 59 คน จาก 24 ประเทศ คณะกรรมการพิจารณาแล้วลงมติให้ผู้ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์ คือ เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter) คณบดีวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นนักชีวเคมีที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างและดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูง และมีความเสี่ยงเป็นสิ่งแปลกปลอมลดลง (antibody humanization)
นายเสข กล่าวว่า ส่วนสาขาการสาธารณสุข คือ ศ.นพ.วลาดิเมียร์ ฮาชินกี (Professor Vladimir Hachinski) ศาสตราจารย์ พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนตาริโอ จากผลงานการริเริ่มนำคำว่า “เบรนแอทแทค” (brain attack) มาใช้เพื่อสื่อถึงความฉุกเฉินของโรคเฉียบพลันที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว แทนการสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน จนกลายเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ค้นพบบทบาทที่สำคัญของสมองส่วนอินซูลาร์ ซึ่งมีผลต่อการเต้นผิดปกติของหัวใจ ที่มีผลทำให้เสียชีวิตได้ โดยจะได้รับรางวัล คือ เหรียญ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ในการพระราชทานรางวัลในวันที่ 31 ม.ค. 2560 เวลา 17.30 น. ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า ผลงานของผู้เข้ารับการพิจารณามีความสำคัญใกล้เคียงกัน แต่ผลงานของ เซอร์ เกรกอรี พอล วินเทอร์ เป็นการพัฒนาแอนติบอดีเสมือนแอนติบอดีของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาการต่อต้านแอนติบอดีที่ไม่ใช่ของร่างกายตัวเอง โดยพัฒนาแอนติบอดีของสัตว์และคนที่ให้มีความเสมือนแอนติบอดีของคนมากที่สุด ร่างกายตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา มียาที่พัฒนาแอนติบอดีดังกล่าวประมาณ 50 ชนิด ส่วนมากจะลงท้ายด้วยคำว่า อูแมป (UMAP) ที่ใช้ในการรักษาโรคอักเสบต่างๆ เช่น รูมาตอย รวมถึงโรคแพ้ภูมิตัวเอง (เอสแอลอี) จริงๆ การศึกษาชิ้นนี้มีการจับตามานานแล้ว และถึงเวลาที่ควรมอบรางวัลให้เพราะเป็นการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
“ส่วนผลงานของ ศ.นพ.วลาดิเมียร์ ฮาชินสกี เกิดจากความคิดว่าการรักษาโรครายบุคคลนั้นเกิดประโยชน์น้อย จึงมีการวิจัยโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน หรือสโตรก ซึ่งเป็นโรคที่มีปัญหาในผู้สูงอายุ เมื่อเป็นแล้วหากไม่เสียชีวิตก็เป็นอัมพาต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คนเรามีโอกาสเป็นโรคสโตรกได้ 1 ใน 3 คน อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่าโรคดังกล่าวหากได้รับการดูแลรักษาเร็วภายใน 8 ชั่วโมง ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและพิการได้ ดังนั้น ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการรู้เร็วรักษาเร็ว ทั้งนี้ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็ใช้แนวทางนี้ในการดูแลอยู่” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว