ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
เลขาธิการทันตแพทยสภา
จากหนังสือ “เรื่องเล่าของครู” โดย ศ.(พิเศษ) ทพ.ญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ ได้ถ่ายทอดถึงความงดงามในพระราชจิรยวัตรที่ประทับใจจากการได้เข้าเฝ้าและถวายงานรักษาพระทนต์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
“หลอดยาสีพระทนต์” หนึ่งในเรื่องเล่าที่ถูกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีวันล้าสมัย ตัวอย่างที่ชัดเจนของปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่เพียงแต่นำความปลาบปลื้มใจมาสู่นิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่รวมถึงทันตแพทย์และพสกนิกรทั้งประเทศที่ได้รับฟัง เนื่องด้วยในฐานันดรพระมหากษัตริย์ ความประหยัดและมัธยัสถ์ ดูเป็นสิ่งไม่จำเป็น
ศ.(พิเศษ) ทพ.ญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา ได้บอกเล่าเรื่องราวตอนหนึ่งว่า “พระองค์ได้ทรงเล่าว่า วันหนึ่งมหาดเล็กห้องสรงเห็นว่าหลอดยาสีพระทนต์ใกล้หมดแล้ว จึงนำไปทิ้งและได้นำหลอดใหม่มาถวาย ท่านทรงเรียกหาให้เอาหลอดเก่ามาคืน ทรงจำได้ว่ายังไม่หมดจริง เพราะพระองค์ทรงสามารถรีดจนแบนและยังทรงใช้ต่อได้อีกถึง 5 วัน จึงได้ขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์มาให้ลูกศิษย์ คณาจารย์ และทันตแพทย์ได้ดูเพื่อเป็นแบบอย่างแห่งความประหยัด ไม่นานมหาดเล็กได้ขับรถมาบ้าน และนำหลอดยาสีพระทนต์ของพระองค์มาให้” ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์วาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมาได้ทราบว่าแม้กระทั่งสบู่ใกล้หมด พระองค์ท่านก็จะทรงใช้ให้ “หมด” จริงๆ ทรงนำเศษสบู่ก้อนเก่ามาแปะกับสบู่ก้อนใหม่ แล้วทรงใช้ต่อไป”
เช่นเดียวกับเรื่องราว “เก้าอี้ทำพระทนต์” ที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรในความพอเพียงเช่นกัน ศ.(พิเศษ) ทพ.ญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เล่าว่า เก้าอี้ทำพระทนต์ที่ทรงใช้ในวังสวนจิตรลดานั้น เป็นเก้าอี้เก่าแก่ใช้มาตั้งแต่ยังทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ระยะเวลาใช้งานเกินกว่า 20 ปี ทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลอนุญาตขอเปลี่ยนเก้าอี้ทำพระทนต์ใหม่ พร้อมเสนอเก้าอี้ทำฟันใหม่ที่ดี ทั้งคุณภาพและสวยงาม แต่พระองค์กลับรับสั่งว่า “ขอใช้เก้าอี้ทำฟันอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง ขอให้เป็นเก้าอี้ที่หมอทำงานได้ถนัดและสะดวกก็ใช้ได้”
เมื่อทันตแพทย์ได้จัดหาเก้าอี้ทำพระทนต์ใหม่แล้ว จึงขอพระราชทานเก้าอี้พระทนต์ชุดเก่านำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเก็บเป็นอนุสรณ์ประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่พระองค์ได้ทรงรับสั่งว่า แล้วเก้าอี้ตัวนั้นยังใช้ประโยชน์ได้อีกหรือไม่ เมื่อทรงทราบว่ายังใช้ประโยชน์ได้ จึงมีรับสั่งให้พระราชทานเก้าอี้ทำฟันตัวนั้นแก่โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ยังขาดแคลน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จนกว่าจะหมดอายุแล้วจึงค่อยนำมาไว้พิพิธภันฑ์ในภายหลัง
จากเรื่องเล่าเก้าอี้ทำพระทนต์แสดงให้เห็นว่า แม้พระองค์จะทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ทรงเห็นความจำเป็นต้องใช้ของที่ดีที่สุด มีราคาแพงเสมอไป แต่ทรงถือการใช้สอยเป็นสำคัญ ทั้งยังทรงเห็นคุณประโยชน์และความคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประโยชน์นั้นจะตกถึงประชาชนของพระองค์ ซึ่ง ศ.(พิเศษ) ทพ.ญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา ได้เล่าในตอนท้ายหลังจากพระองค์มีรับสั่งถึงเก้าอี้ทำพระทนต์ ว่า “เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจึงต้องนำเก้าอี้พระทนต์ส่งไปยังฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลนราธิวาสเพื่อใช้งาน บริการทันตกรรมให้กับประชาชนต่อไป”
ทั้งจากเรื่องเล่าหลอดยาสีพระทนต์และเก้าอี้ทำพระทนต์นี้ ทำให้ย้อนระลึกถึงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับพสกนิกรไทยเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ มีความว่า
“การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัวช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
จากกระแสรับสั่งที่ได้ให้ไว้กับพสกนิกรในวันนั้น และจากเรื่องเล่าของครูที่ได้สะท้อนพระจริยวัตรที่งดงามส่วนหนึ่งของพระองค์ สะท้อนให้เห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำความคิดที่ยังประโยชน์สุขให้กับประชาชน แต่ยังทรงเป็นนักปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่อง “จิตคิดประหยัดหัดนิสัย” เพื่อให้พสกนิกรไทยดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ไม่เพียงแต่นำความสุขมาสู่ประชาชน แต่ยังสร้างความมั่นคงและนำความผาสุกมาสู่ประเทศตลอดไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่