“กลุ่มหมอฟัน” ร้อง สธ. ประสาน วท. ออกกฎกระทรวง พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฯ ยกเว้น “เครื่องเอกซเรย์ฟัน” ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยฯ ชี้ ไร้อันตราย เหตุใช้เวลาฉายรังสีน้อย ไม่เคยมีใครรับผลกระทบมาก่อนในโลก พร้อมขอยกเลิกข้อกำหนดคลินิกหมอฟันทุกแห่งต้องมีเครื่องเอกซเรย์
วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ชมรมทันตแพทย์อาสา ประกอบด้วย ทันตแพทย์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประมาณ 50 กว่าคน เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กรณีได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.พ. 2560 ซึ่งกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสี หรือ เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม จะต้องมีใบอนุญาตครอบครองเครื่องกำเนิดรังสี และผู้ใช้งานจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี โดยมีเลขานุการ รมว.สาธารณสุข และ ปลัด สธ. เป็นผู้รับหนังสือ
ทพ.สมชัย สุขสุธรรมวงศ์ ตัวแทนชมรมทันตแพทย์อาสา กล่าวว่า ทันตแพทย์ไม่ได้ใช้เครื่องกำเนิดรังสี หรือ เครื่องเอกซ์เรย์ฟัน ในการรักษา แต่ใช้ในการตรวจเพื่อประกอบการวินิจฉัย ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยทุกราย แต่ที่ผ่านมา มีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยชนิดและจำนวนเครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์หรือยานพาหนะที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 ภายใต้ พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดว่า เครื่องเอกซเรย์ฟันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่คลินิกทันตกรรมทุกแห่งต้องมี และหากต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี (RSO) ตามที่ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฯ กำหนดอีก ก็ต้องจ้างคนเพิ่มมาทำหน้าที่ ทั้งที่คลินิกทันตกรรมเล็ก ๆ ที่เน้นเรื่องงานส่งเสริมป้องกันอย่างการขูดหินปูน อุดฟัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ฟันอยู่แล้ว เรียกได้ว่า พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฯ กระทบต่อวิชาชีพทันตกรรมอย่างมาก
ทพ.สมชัย กล่าวว่า อยากขอให้ สธ. สั่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัยเครื่องเอกซ์เรย์อยู่แล้ว และประสานทันตแพทยสภาในการหารือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในการผลักดันให้ออกกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฯ เพื่อยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน ซึ่งตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฯ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เครื่องกำเนิดรังสีใดที่ไม่เป็นอันตรายก็ให้ยกเว้นได้ ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เพราะไม่เคยมีทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ป่วยรายใดในประเทศไทย และในโลกที่ได้รับผลกระทบหรืออันตรายจากเครื่องเอกซเรย์ฟันมาก่อน นอกจากนี้ จะขอให้ประสานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยชนิดและจำนวนเครื่องมือฯ ประจำสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 ที่บังคับให้คลินิกทันตกรรมทุกแห่งต้องมีเครื่องเอกซเรย์ฟันด้วย เพราะบางคลินิกทันตกรรมก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หากให้บริการเพียงแค่ขูดหินปูน อุดฟัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องมี
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแผ่รังสีของเครื่องเอกซเรย์ฟันอยู่ในระดับใดถึงเรียกว่ามีความปลอดภัย ทพ.สมชัย กล่าวว่า พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฯ เป็นกฎหมายที่มีเจตนาดีในการดูแลอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รังสีต่าง ๆ ที่อันตราย โดยเฉพาะในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเราก็สนับสนุน แต่ขอให้ยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน เพราะไม่มีอันตรายใด ๆ ซึ่งการพิจารณาว่าอันตรายหรือไม่ ไม่อยากให้มองว่าเครื่องเอกซเรย์ฟันมีปริมาณรังสีเท่าไร แต่ต้องพิจารณาถึงตอนใช้ เพราะเมื่อเวลาใช้ก็ใช้เวลาเพียง 0.2 วินาที ในการฉายรังสีเท่านั้น และไม่ได้ฉายมากมายหลายครั้ง เมื่อใช้เสร็จก็ปิด ไม่ได้แผ่รังสีออกมาตลอดเวลา แม้แต่ทันตแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสียังไม่ได้รับอันตรายเลย ไม่เหมือนกับเครื่องเอกซเรย์กระเป๋าที่เปิดตลอดเวลาเกือบทั้งวัน
เมื่อถามถึงเรื่องของการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี ทพ.สมชัย กล่าวว่า หากเทียบเครื่องเอกซเรย์เป็นไมโครเวฟ ก็เหมือนต้องถูกบังคับให้ไปเรียนไปสอบวิธีการใช้ไมโครเวฟ หรือไม่หากจะอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมาดูแลมากำกับ ที่สำคัญ การเรียนทันตแพทย์จะมีการเรียนเรื่องความปลอดภัยทางรังสีอยู่แล้ว การอบรม 2 วันแล้วไปสอบเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสีก็เหมือนกับคนจบปริญญาตรีแล้วต้องกลับมาเรียนในระดับประถมอีก และถามว่าเมื่อได้ใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสีแล้ว การทำงานก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ที่สำคัญยังอาจก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันด้วย โดยเฉพาะเรื่องการแขวนป้าย
ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ให้กรมวิทย์ และ สบส. พิจารณาดำเนินการ รวมทั้งจะประสานหารือกับ วท. เพื่อพิจารณาว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.และกลุ่มกฎหมายไปพิจารณาว่าในส่วนของ สธ. จะมีส่วนไหนกระทบจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่ ทั้งนี้ รพ. ชุมชนที่สังกัด สธ. ไม่ได้มีนักรังสีและเจ้าหน้าที่รังสีครบทุกแห่ง โดย 400 แห่ง จะมีเจ้าหน้าที่รังสี แต่ไม่มีนักรังสีที่จบปริญญาตรี ซึ่งสภาวิชาชีพรังสีเทคนิคก็ได้เสนอให้มีนักรังสีใน รพ.ชุมชน ด้วย ซึ่งก็จะเร่งพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่