xs
xsm
sm
md
lg

4 เหตุผลที่คุณไม่ควรโพสต์-แชร์ขอบริจาคเลือดทางเน็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ผ่านมามักพบเห็นการโพสต์ขอความช่วยเหลือให้มาบริจาคเลือด เพื่อช่วยผู้ป่วยรายนั้นรายนี้เป็นจำนวนมาก และเกิดการแชร์ต่อออกไปเป็นวงกว้าง เพราะคิดว่าเป็นการกระทำที่ได้บุญ ได้ช่วยเหลือบุคคลอื่น แต่รู้หรือไม่ว่า ผลเสียที่เกิดจากการขอเลือดผ่านทางอินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดผลกระทบใดตามมาบ้าง

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึง 4 เหตุผลหลักที่ไม่ควรขอรับบริจาคเลือดทางอินเทอร์เน็ตว่า "จริงๆ แล้ว ผมไม่อยากขัดศรัทธาของผู้ใดนะครับ แต่ในฐานะ หมอโรคเลือด ผมขอแบ่งปันข้อคิดเกี่ยวกับ “การโพสต์ ขอเลือดทางอินเทอร์เน็ต” ดังนี้ นะครับ

1.ธนาคารเลือดมีระบบขอเลือดจากศูนย์บริการ โลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ทั้งปกติ และในยามฉุกเฉินอยู่แล้ว และสามารถยืมระหว่าง รพ.ต่างๆ  ถ้าเลือด หรือ เกล็ดเลือดกลุ่มใด หายาก ศูนย์บริการโลหิต มีข้อมูล ผู้บริจาคกลุ่มเลือด หายาก ในระบบ ถ้าต้องการเลือด เมื่อใด เขาจะติดต่อ คนพิเศษ ที่เลือด ตรงหมู่เหล่านี้ ให้มาบริจาคล่วงหน้า หรือ ทันที

2.ผู้บริจาคบริจาควันใด เลือดก็จะต้องถูกตรวจสอบตามมาตรฐานอย่างเข้มข้น  เร็วที่สุดก็คือ 48 ชั่วโมง  ถ้า "ผ่าน" จึงจะนำไปใช้ กับผู้ป่วยได้

3.ผู้บริจาคไม่สามารถ ระบุตัวผู้ป่วย ที่จะนำไปใช้  (แม้ว่า จะแจ้งความจำนง ว่า บริจาคเพื่อใคร) โดยระบุ ... ห้ามให้คนอื่น ... ทำไม่ได้ มันผิดกฎเกณฑ์ หลักสากล

3.1 ถ้าทำเช่นนั้น จะทำให้เลือดถูกทิ้งมากกว่า ใช้ประโยชน์  3.2 เป็นการบริจาคเลือดที่ไม่บริสุทธิ์ใจ 3.3 เพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้รับ เพราะคนที่ไม่สมควร บริจาค ถูกโน้มน้าวให้มาบริจาคด้วยเหตุผลทางสังคม 3.4 เป็นการเพิ่มงานแก่ เจ้าหน้าที่

"ในยุคปัจจุบัน เราจะพึง รณรงค์ ให้ผู้ที่สามารถ บริจาคเลือดได้นั้น เข้ามาบริจาค เป็นประจำ ทุกๆ 3 เดือน  ซึ่งเลือดจากผู้บริจาคกลุ่มนี้ เป็นเลือดที่มีคุณภาพดี มีปัญหาน้อย และมีสิทธิบริจาคเกล็ดเลือดเข้มข้น ที่สามารถใช้ได้ทันทีอีกด้วย เราไม่ค่อยอยากได้เลือด จากผู้บริจาค ที่ "ยอม..มา" เพียงเพราะ ใครบางคน ป่วย แล้วขอให้มาช่วย (coerced donation/replacement donation) เพราะตรวจแล้ว ส่วนมากไม่ผ่าน .. มีเยอะมาก  อาจจะ .. เสียทรัพยากรไป โดยเปล่าประโยชน์ได้"

และ 4.การเปิดเผย ชื่อผู้ป่วย และ โรคที่เขาเป็น ใน สื่อสาธารณะ เช่น โซเชียลมีเดียมีความเสี่ยง

คราวหน้าหากพบเห็นโพสต์ขอเลือดในกลุ่ม อินเทอร์เน็ตใดๆ โปรด .. ช่วยกันเผยแพร่ความจริงด้วย

จะเห็นได้ว่าไม่เพียงแค่เสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ เป็นการเพิ่มภาระแก่เจ้าหน้าที่ การนำภาพ ชื่อนามสกุลผู้ป่วยมาโพสต์อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่โพสต์ขอความช่วยเหลือที่แชร์กันต่อๆ ไป ยังกระจายอยู่ในสังคมออนไลน์เช่นเดิมสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนอีกหลายทอด

การช่วยเหลือใดๆ ต้องพึงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าไม่ก่อให้เกิดผลเสียตามมาในระยะยาวหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น