xs
xsm
sm
md
lg

2 สัปดาห์อาจพบความเศร้ามากขึ้น “ผู้ถวายงานใกล้ชิด-ผู้สูงอายุ” เสี่ยงมากสุด เร่งดูแลสุขภาพจิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ห่วงช่วง 2 สัปดาห์ อาจพบปรากฏการณ์เศร้าเสียใจมากกว่าเดิม เร่งติดตามดูแลสุขภาพจิตประชาชน 3 กลุ่มตามระดับความเสี่ยง ชี้กลุ่มผู้ถวายงานใกล้ชิด ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเสี่ยงมากสุด แนะลูกหลานพูดคุย อย่าปิดกั้นการแสดงความเสียใจ ทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล

วันนี้ (16 ต.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ด้านวิกฤตสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงที่ประชาชนมีความเศร้าโศกจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการติดตามสุขภาพจิตของประชาชน พบว่า มีปัญหาสภาพจิตใจเฉลี่ยร้อยละ 0.05 ซึ่งจากนี้จะต้องมีการติดตามต่อเนื่องโดยเฉพาะภายในช่วง 2 สัปดาห์นี้ จะมีผลกระทบทางด้านจิตใจมาก อาจจะพบปรากฏการณ์ความเศร้าเสียใจมากกว่าเดิม ทั้งนี้ สธ. ได้แบ่งประชาชนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ผู้ที่ถวายงานใกล้ชิด ผู้ที่อยู่ในหน่วยงานตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ รวมถึงผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีประวัติมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมาก่อน และ 2. กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง อายุตั้งแต่ 40 - 60 ปี และ 3. กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย คือ อายุกว่า 40 ปีลงมา โดยกรมสุขภาพจิตจะมีทีมให้การดูแลอย่างเต็มที่ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด

“ความทุกข์ ความเสียใจ การร้องไห้ การซึมเศร้า ล้วนเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติที่แสดงออกต่อความสูญเสียพ่อหลวงของแผ่นดิน ซึ่งเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวง ช่วงนี้อย่าปิดกั้นการแสดงออก รวมกลุ่มกันทำความดี สวดมนต์ ร่วมกันทำความดีด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เช่น การบริจาคเลือด บริจาคร่างกาย เป็นต้น หน่วยงาน ชุมชนต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมตั้งโต๊ะลงนาม ลูกหลานที่มีผู้สูงอายุในบ้านต้องคอยพูดคุย พูดปลอบ แต่ไม่ปิดกั้นการแสดงความเสียใจ หรือเบี่ยงเบนความสนใจของผู้สูงอายุ” รองปลัด สธ. กล่าวและว่า ตลอดช่วงที่มีการเปิดให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทาง สธ. ร่วมกับสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ จัดตั้งหน่วยแพทย์สนามคอยให้บริการประชาชนตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น