วธ. ระดมช่างศิลปกรรมไทยถ่ายทอดพระราชกรณียกิจในหลวง ร.๙ ชูจิตรกรรมฝาผนังพุทธรัตนสถาน หนึ่งในจิตรกรรมชิ้นเยี่ยมสมัยรัชกาลที่ ๙
วันนี้ (8 พ.ย.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในขณะนี้ วธ. ได้รวบรวมพระราชกรณียกิจ และพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม ในฐานะองค์อัครศิลปิน โดยจะระดมผู้เชี่ยวชาญ ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้านทุกๆ สาขา มาถ่ายทอดองค์ความรู้ที่พระองค์เคยมีพระราชวินิจฉัยเพื่อสืบสานแนวพระราชดำริ และพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมฝาผนัง ที่เคยเข้าเฝ้าฯถวายงานเมื่อครั้งพระองค์มีพระราชกระแสให้ กรมศิลปากรเปลี่ยนภาพจิตรกรรมฝาผนังหอพุทธรัตนสถาน คือ นายศักย ขุนพลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรม และนางสายไหม จบกลศึก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาและหนังสือมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.ได้เชิญศิลปินด้านจิตรกรรมมาหารือแล้ว จะมีการรวบรวมเป็นองค์ความรู้ด้านจิตรกรรมชิ้นเยี่ยมสมัยรัชกาลที่ ๙ เช่น จิตรกรรมฝาผนังหอพุทธรัตนสถาน จิตรกรรมพระมหาชนก จิตรกรรม ไตรภูมิกถา รวบรวมให้ประชาชนได้ศึกษาประมวลเป็นหนังสือ วิดีทัศน์ สำหรับประชาชนที่สนใจศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังหอพุทธรัตนสถาน สามารถเข้าไปศึกษาจากหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปกรรมพระพุทธรัตนสถาน รัชกาลที่ ๙ รวมถึงจดหมายเหตุ และกระบวนการสร้างจิตรกรรมได้ที่หอสมุดแห่งชาติทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีแนวคิด นำองค์ความรู้ด้านจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๙ จัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงง่ายขึ้น
นางสายไหม จบกลศึก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาและหนังสือ กล่าวว่า ตนเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึง 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งพระองค์จะมีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับแนวทางการเปลี่ยนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งถือเป็นพระอุโบสถที่อยู่ในพระราชวังชั้นใน แต่เดิมภาพเขียนที่เขียนไว้บางส่วนเป็นภาพเขียนที่ไม่เสมอกันระหว่างภาพเก่าและภาพใหม่ ซึ่งเป็นจิตรกรรมในยุคเก่าและยุคใหม่นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระองค์มีพระราชปรารภให้ดำเนินการให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวมีความกลมกลืนกัน พร้อมกับมีพระราชกระแส ว่า ขอให้จิตรกรรมฝาผนังหอพุทธรัตนสถานนี้ เป็นของขวัญให้กับพระองค์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เพื่อเชิดชูงานศิลปกรรม ของภูมิปัญญาบรรพชนพระพุทธรัตนสถาน เพื่อเป็นประวัติศาสตร์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
“ครั้งนั้น แม้จะมีช่างฝีมือถึง 21 คน พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยการดำเนินงานด้วยพระองค์เองตลอดการดำเนินงาน ทำให้จิตรกรรมที่เขียนขึ้นใหม่มีความกลมกลืนกันอย่างดียิ่ง ซึ่งจิตรกรรมที่จัดขึ้นแบ่งเป็น 8 ภาพ แบ่งเป็นสมัย ร.๔ จำนวน 2 ภาพ ร.๕ จำนวน 1 ภาพ ร.๖ จำนวน 1 ภาพ ร.๗ จำนวน 1 ภาพ ร.๘ จำนวน 1 ภาพ และสมัยของพระองค์ จำนวน 2 ภาพ ทุกภาพรักษาแนวโบราณตามพระราชประสงค์มีทั้งความงดงามทั้งเรื่อง การกำหนดสี และลักษณะศิลปะ โดยใช้เทคนิคสมัยเก่าผสมผสานกับสมัยใหม่ ทำให้จิตรกรรมชุดนี้กลมกลืมดูแล้วเป็นชุดเดียวกัน คณะช่างฝีมือเริ่มเขียนปี 2546 ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ปี แต่ก่อนหน้านั้นใช้เวลาในการสเกตช์ภาพ 9 ปี สิ่งที่ยาก พระองค์รับสั่งว่าทุกอย่างต้องถูกต้องตามความเป็นจริง คือ พระราชวัง สถานที่ ต้นไม้ อยู่ตรงไหน ต้องบอกทิศทางให้ถูกต้อง ตรงนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกด้วย ทำให้เด็กเยาวชนรุ่นหลัง ซี่งสามารถเป็นจดหมายเหตุได้ด้วย
นายศักย ขุนพลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจิตรกรรม กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรัสว่า ให้อนุรักษ์เทคนิคโบราณไว้ พร้อมกับนำเทคนิคสมัยใหม่มาใช้ให้กลมกลืน เนื่องจากบางสีไม่มีแล้ว อย่างเช่น สีเขียว ในสมัยก่อนซื้อมาจากจีน ปัจจุบันไม่มีแล้ว ต้องใช้ของสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำ เราจะต้องทดลองการใช้สีและวางไว้กลางแจ้ง 1 สัปดาห์ เพื่อดูว่ามีปัญหาหรือไม่ จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเริ่มเขียนปี 2546 โดยจิตรกรรมพระพุทธรัตนที่เขียนใหม่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่