xs
xsm
sm
md
lg

ยูนิเซฟหนุน ร.ร.ทวิภาษา “ไทย-มลายูปัตตานี” เพิ่มโอกาสเรียนรู้ นร.ตามสิทธิเด็กชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยูนิเซฟ จับมือนักวิชาการ - สกว. ร่วมสนับสนุนนโยบายภาษาแห่งชาติ และผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนด้วยภาษาแม่ควบคู่ไปกับภาษาไทย และภาษาอื่นๆ หลังจากผลประเมินชี้ชัด การเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชั้นปฐมวัย จะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานที่ดีในการอ่าน การเขียน และการคำนวณ และมีผลการเรียนที่ดีขึ้น

วันนี้ ปาติเมาะ เมาะโมะ มีโอกาสมาเยือนโรงเรียนบ้านลดา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่เธอเคยเรียนอีกครั้ง เมื่อนึกย้อนไปในฐานะนักเรียนหลายสิบปีก่อน เธอมีความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนัก เธอไม่ชอบมาโรงเรียนเลย เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่ครูพูด เพื่อนบางคนต้องให้พ่อแม่มานั่งเฝ้าที่โรงเรียน เพราะว่ากลัวครูที่พูดแต่ภาษาไทย ปาติเมาะ มักสงสัยว่า ทำไมบรรยากาศที่โรงเรียนจึงแตกต่างไปจากบรรยากาศของชุมชนที่เด็กอย่างเธอคุ้นเคย

“เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป โรงเรียนได้รับการปรับปรุงอย่างดีขึ้นมาก ลูกชายมีความสุขที่ได้มาโรงเรียน น้องอยากมาเล่นกับเพื่อน และมาเรียนหนังสือ คุณแม่ก็ดีใจที่ลูกเป็นเด็กเรียนดีสอบได้ที่ 1 ทำให้พ่อแม่ปลื้มใจมีกำลังทำงาน อยากให้เขาได้ทักษะทั้งภาษาถิ่น และภาษาไทย โตขึ้นเขาจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ และได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น” คุณแม่ลูกสองวัย 31 ปี กล่าว

เวลา 11 โมง เป็นคาบวิชาภูมิศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นห้องเรียนของ มะห์ดี อาลี ลูกชายของปาติเมาะ ซึ่งกำลังเรียนเรื่องทรัพยากรดิน และทรัพยากรหิน การเรียนการสอนทั้งหมดเป็นภาษามลายูถิ่นสลับกับภาษาไทยกลาง มะห์ดี ฟังคุณครูสอนวิชาที่เขาชอบอย่างตั้งอกตั้งใจ

เด็กชายวัย 8 ขวบ บอกว่า วิชานี้เป็นวิชาที่เขาชอบเรียนมาก นอกจากนี้ เขายังชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย มะห์ดี บอกว่า เขาอยากเรียนหนังสือสูงๆ และอยากเป็นตำรวจเมื่อโตขึ้น

โรงเรียนบ้านลดาเป็นหนึ่งในโรงเรียนประถมศึกษานำร่อง จำนวน 15 แห่ง ของจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่ของนักเรียน คือ ภาษามลายูปัตตานี ควบคู่ไปกับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยคุณครูจะเริ่มสอนภาษามลายูปัตตานี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล แล้วค่อยๆ เพิ่มการเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทีละเล็กละน้อยในชั้นประถมอย่างเป็นระบบ

โครงการ “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่น และภาษาไทย เป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - ภาษามาลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษามาลายูปัตตานี เป็นภาษาแม่ โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาจากทั่วโลกรวมถึงจากยูเนสโกและยูนิเซฟ พบว่า การเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชั้นปฐมวัย จะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานที่ดีในการอ่าน การเขียน และการคำนวณ และช่วยให้พวกเขามีผลการเรียนดีขึ้น

“เราพบว่าเด็กในจังหวัดชายแดนใต้มีผลการเรียนที่อยู่ในกลุ่มเกณฑ์ที่ต่ำที่สุดของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กๆ หลายคนมีความยากลำบากในการปรับตัวและไม่เข้าใจสิ่งที่ครูพูดเวลาเรียนเป็นภาษาไทย เราจึงริเริ่มโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” ดร.รังสรรค์ กล่าว

ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าทีมงานทวิภาษา สถาบันวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการศึกษาไทย เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก และใช้ภาษาเป็นฐานในการพัฒนาสมอง ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ของเด็ก โดยคุณครูจะนำสื่อการสอนที่มีเรื่องราวท้องถิ่นมาออกแบบเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นให้เด็กมีส่วนร่วม รู้จักคิดแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้พวกเขากล้าแสดงออก โดยจะใช้ภาษาถิ่นที่เด็กคุ้นเคยก่อนแล้วค่อย เริ่มการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กๆ มีทักษะที่แข็งแรงในการฟัง พูด อ่าน เขียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล

“ภาษาท้องถิ่นไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญ แต่เป็นระบบคิด ระบบความรู้ของมนุษย์ เป็นภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น หากเราเปิดโอกาสให้คุณครูและชุมชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมในการเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกขั้นตอน โอกาสในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ก็จะมีมากขึ้นอย่างเป็นระบบ” ดร.สุวิไล กล่าว

ที่ห้องเรียนชั้นอนุบาล 1 เด็กเล็กทั้งชายและหญิงในชุดนักเรียนสีเขียวสดใสกำลังนั่งฟังคุณครูที่กำลังเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนผ่านภาพวาดต้นยางอย่างตั้งใจ คุณครูพูดกับเด็กๆ ด้วยภาษามลายูปัตตานี ว่า ผู้ปกครองของพวกเขากำลังออกไปกรีดยางเพื่อหาเงินมาดูแลครอบครัวและให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ เพื่อที่โตขึ้นจะได้เป็นคนดี มีความรู้ พร้อมจะดูแลตัวเองและชุมชนต่อไป

จิรมาศ จันทรเพท ซึ่งเป็นครูที่โรงเรียนบ้านลดามากว่า 20 ปี กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า มีความสุขที่เห็นเด็ก ๆ ตั้งใจฟังคุณครูสอนอย่างตั้งใจ และในขณะเดียวกัน ได้เห็นพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในอดีตที่คุณครูยังต้องสอนเด็กๆ เป็นภาษาไทย

“เมื่อก่อนเวลาคุณครูพูดภาษาไทยกลางแล้วเด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจฟัง คุณครูก็อึดอัดกลุ้มใจ เพราะรู้ดีว่าการวางพื้นฐานที่ดีให้กับเด็กควรเริ่มตั้งแต่วัยอนุบาลจะทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่รวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก” คุณครูจิรมาศ กล่าว

ในฐานะคุณครูผู้มีประสบการณ์สอนที่โรงเรียนบ้านลดากว่า 20 ปี ครูจิรมาศ ยืนยันว่า การนำภาษาท้องถิ่นมาสอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐ จะช่วยลดจำนวนเด็กที่ออกนอกระบบได้อีกด้วย เพราะในชุมชนที่พูดแต่ภาษามลายูปัตตานี ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนเพื่อจะได้ใช้ภาษาถิ่นควบคู่ไปกับการเรียนศาสนาเนื่องจากโรงเรียนของรัฐไม่ได้สอนภาษาถิ่นให้กับเด็กๆ

จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาพื้นฐานปี 2550 พบว่า ค่าร้อยละของการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับสูงมาก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านไม่ออกถึงร้อยละ 25 และเขียนไม่ได้มากถึงร้อยละ 42 โดยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในโรงเรียนที่อยู่นอกเขตอำเภอเมือง มักจะอยู่ใน 10 อันดับสุดท้ายของประเทศมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินพัฒนาการระดับประถมศึกษาปีที่หนึ่งระหว่างโรงเรียนนำร่อง และโรงเรียนในสังกัดสำนักพัฒนาการศึกษาขึ้นพื้นฐาน โดยคณะประเมินของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเมื่อปี 2558 พบว่า นักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทวิภาษามีคะแนนเฉลี่ยเกาะกลุ่มกันอยู่ในระดับสูง ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นชัดกับนักเรียนที่ได้รับการเรียนการสอนแบบปกติ ซึ่งมีคะแนนอยู่ในระดับปานกลางเป็นส่วนใหญ่

ด้าน ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการทวิภาษาฝ่าย 1 สกว. กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ทำให้ สกว. เชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาทวิภาษาควรได้รับการผลักดันให้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบซึ่งจะช่วยให้ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ในการเข้าถึงการศึกษา

“สังคมควรต้องเปิดใจยอมรับวิธีคิดที่แตกต่าง ในเมื่อของเดิมมีปัญหาก็ควรต้องได้รับการแก้ไข” ดร.อิศรา กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น