xs
xsm
sm
md
lg

ขยี้ตารุนแรงเสี่ยงโรค “กระจกตาโก่ง” พบไทยป่วยมากขึ้น คนป่วยภูมิแพ้ต้องระวัง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนป่วยโรค “ภูมิแพ้” เสี่ยง “กระจกตาโก่ง” ง่ายกว่าคนทั่วไป เหตุขยี้ตาแรง ทำเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ ต้านแรงดันลูกตาไม่ไหว ทำให้กระจกตาโก่ง ส่งผลต่อค่าสายตา ทิ้งไว้นานทำกระจกตาพิการและตาบอดได้ เผย คนทำเลสิกโอกาสเป็นง่ายกว่า

วันนี้ (8 พ.ย.) รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกระจากตาของมนุษย์ ว่า ตามปกติกระจกตาของมนุษย์จะมี 5 ชั้น มีลักษณะโค้งพอดี ทำหน้าที่รับแสงจากระยะไกลผ่านเข้าไปเลนส์แก้วตา แล้วมาหักเหที่จอรับภาพ หรือจอประสาทตา เพื่อทำให้มองเห็นภาพได้ดี ทั้งนี้ ปกติแล้วภายในลูกตาจะมีความดันลูกตาอยู่ ซึ่งหากกระจกตาบางหรือเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ ความดันในลูกตาก็จะดันให้กระจกตาโก่งขึ้นในลักษณะบิดเบี้ยว เกิดการหักเหของแสงมากเกินไป กระทบกับการมองเห็นทั้งสายตาสั้น สายตาเอียงแบบผิดธรรมชาติมาก หากเป็นมากแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กระจกตาแตกได้ ทำให้น้ำในลูกตาซึมเข้าไปทำให้เกิดเป็นฝ้าขาว ขุ่น อักเสบบวม เกิดแผลเป็น มีปัญหาเรื่องการมองเห็น หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้กระจกตาพิการ และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ โดยโรคดังกล่าวมักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง มีเพียงร้อยละ 2 - 4 เท่านั้น ที่จะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว

รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวว่า โรคนี้เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอได้ แต่คาดว่ามีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ เพราะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีการขยี้ดวงตาอย่างแรงโดยใช้ข้อนิ้ว จึงสันนิษฐานว่าการกด ขยี้ดวงตาอย่างแรง เป็นตัวกระตุ้นทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอลง ดังนั้น จึงไม่ควรขยี้ดวงตาแรงๆ ทั้งนี้ คนที่มักเป็นโรคกระจกตาโก่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. อายุ 10 - 20 ปี กลุ่มนี้โรคมักมีอาการรุนแรง 2. อายุ 20 - 30 ปี โรคจะนิ่งๆ ไม่เป็นมาก แต่เป็นกลุ่มคนที่เริ่มมีรายได้แล้วหันมาทำเลสิกแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ทำให้เจอได้เยอะขึ้น และ 3. กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ รู้ตัวเมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจวัดทางจักษุแพทย์

“วิธีการสังเกตว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ คือ มีการเปลี่ยนแปลงปัญหาสายตาเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ แต่ไม่สามารถสังเกตได้ง่ายด้วยตาเปล่า ยกเว้นบางกรณีมีการกดทับจนทำให้ขอบตาล่างเปลี่ยนเป็นรูปตัววีอย่างชัดเจน” รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวและว่า สำหรับการรักษาทำได้ 5 วิธี คือ 1. เมื่อมีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง แก้ไขด้วยการสวมแว่นสายตา 2. การใส่คอนแทคเลนส์ 3. การฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Crosslinking) ผสมกับไวตามินบี ในทางการแพทย์ เพื่อเชื่อมเส้นใยคอลลาเจนให้มากขึ้น แข็งแรงมากขึ้น สามารถต้านแรงดันลูกตาไม่ให้กระจกตาโก่งตามแรงดันได้ 4. การใส่วงแหวนขึงตรึงกระจกตา เหมือนกับสะดึงตรึงผ้า แต่เป็นการรักษาชั่วครู่ ไม่ได้หยุดยั้งความโก่งเหมือนกับการทำคอสริง และ 5. การเปลี่ยนกระจกตาที่โก่งทิ้ง แล้วรอกระจกตาบริจาคมาเปลี่ยน ซึ่งจะทำเมื่อคุณภาพการมองเห็นเสียไป ปัจจุบันกว่าผู้ป่วยจะได้รับการเปลี่ยนกระจกตาต้องรอการบริจาคเฉลี่ย 3 ปี ทั้งนี้ วิธีที่ 3 และ 4 ถือเป็นทางเลือก

รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวว่า หากกระจกตาแตกจะต้องเปลี่ยนกระจกตาเพียงวิธีเดียว แต่มักพบปัญหาการต่อต้านกระจกตาใหม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไข้มีจำนวนมาก ก็พยายามทำการรักษาให้ได้รวดเร็ว แต่สิ่งที่พบคือ คนไข้ที่ทำเลสิกนั้นมีปัญหากระจกตาโก่งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากต้องมีการฝนกระจกตาให้บางลง ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระจกตาโก่งเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากนัก เพราะจักษุแพทย์จะตรวจสอบและระมัดระวังเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น การทำเลสิกครั้งต่อไปอาจจะต้องมีการฉายแสง เพื่อทำให้กระจกตาแข็งแรงด้วย ซึ่ง รพ.จุฬาฯ กำลังสั่งเครื่องดังกล่าวมาในปลายปีนี้ ถือเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่าสภาพกระจกตาของคนเหมาะจะทำเลสิกร่วมกับการฉายแสงหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น