xs
xsm
sm
md
lg

หมาเซื่องซึม กัดเมื่อถูกกวน อาการหนึ่ง “โรคพิษสุนัขบ้า” ห่วงช่วงติดสัดเสี่ยงระบาดเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. เตือนช่วงนี้ “สุนัข” ติดสัด เสี่ยงรับเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่ม ส่ง อสม. ช่วยเฝ้าระวังทั่วประเทศ แนะพาสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนป้องกัน สัตวแพทย์ห่วงอาการโรคพิษสุนัขบ้า มีทั้งดุร้ายไล่กัดคน และ เซื่องซึม จะกัดเมื่อถูกรบกวน ทำให้สังเกตอาการยาก แนะหากพบอาการให้แจ้งปศุสัตว์

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) พบว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 6 พ.ย. 2559 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 8 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึงร้อยละ 60 ที่มี 5 ราย ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่สุนัขติดสัด จึงมีโอกาสเสี่ยงเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดในกลุ่มของสุนัขง่ายขึ้น และคนมีโอกาสติดเชื้อหากถูกสุนัขที่มีเชื้อกัด สบส. ได้ประสานขอให้เครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ ซึ่งมี 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน เฝ้าระวังสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ในชุมชนที่เสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนให้นำสัตว์เลี้ยงในบ้าน ได้แก่ สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถฉีดในลูกสุนัขอายุตั้งแต่ 2 - 3 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดทุกปี ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันโรคนี้ดีที่สุด เชื้อพิษสุนัขบ้านี้หากติดคน และมีอาการป่วย จะเสียชีวิตทุกราย

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สังคมไทยขณะนี้ มีคนโสด และมีผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น จึงนิยมเลี้ยงสุนัข หรือแมวเป็นเพื่อน เป็นลูกแทน ซึ่งเป็นความใกล้ชิดผูกพัน ช่วยคลายความเหงา ต้องนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี แม้ว่าจะไม่ได้ปล่อยไปไหนก็ตาม เพราะมีโอกาสติดเชื้อโรคได้จากการยื่นปากไปกัดกับสัตว์อื่นนอกบ้าน และส่วนใหญ่บุคคลที่รักสัตว์มักจะขาดความระมัดระวัง เมื่อถูกสัตว์กัด ข่วน หรือ เลีย คิดว่าไม่เป็นอะไร โดยเฉพาะกับลูกสุนัข เพราะคิดว่ายังเด็กไม่มีเชื้อโรค จึงทำให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจนป่วยและเสียชีวิต ขอเรียนว่า เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์สามารถเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน ริมฝีปาก หรือนัยน์ตาได้ ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนยึดความปลอดภัยไว้ก่อน หากถูกสัตว์กัด หรือเลียให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ที่แผลเพื่อขจัดเชื้อออกจากแผลให้ได้มากที่สุด จากนั้นให้ทายาฆ่าเชื้อและพบแพทย์เพื่อปรึกษาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และห้ามรักษาแผลที่ถูกกัดหรือข่วนด้วยสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณเด็ดขาด เนื่องจากไม่สามารถรักษาอาการโรคได้

สพญ.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า โดยทั่วไปสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่าย ดังนี้ ลิ้นห้อย น้ำลายไหล หางตก แววตาน่ากลัว เดินโซเซ ทรงตัวไม่ได้ โดยมีอาการแสดงให้เห็น 2 แบบ คือ แบบดุร้าย สัตว์จะหงุดหงิด ไล่กัดคน และสัตว์อื่น หรือกัดโซ่ - กรง หากกักขัง และแบบเซื่องซึม จะมีอาการป่วยเหมือนสัตว์สัตว์เป็นโรคอื่น ทำให้สังเกตได้ยาก มักหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคน หรือสัตว์เมื่อถูกรบกวน เช่น เมื่อเอาน้ำ เอายาหรืออาหารไปให้ หากประชาชนพบเห็นสัตว์ที่มีอาการตามที่กล่าวมา ขอให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม. ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโดยทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น