xs
xsm
sm
md
lg

จัด “รถโมบายคลายเครียด” ดูแล ปชช.สนามหลวง แนะ 3 เทคนิคปฐมพยาบาลใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. จัดรถโมบายคลายเครียดดูแลสุขภาพจิต ปชช. ที่สนามหลวง พบคนเครียดรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรงจากเหตุสวรรคต ต้องได้รับการดูแลวันละ 2 - 4 คน แนะคนรอบข้างใช้ 3 เทคนิคปฐมพยาบาลใจ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเมื่อจำเป็น ชี้ เปิดกว้างจัดกิจกรรมทำดีเพื่อพ่อ ช่วยระบายความทุกข์โศก

วันนี้ (31 ต.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2559 “การปฐมพยาบาลทางใจ...คุณก็ช่วยคนอื่นได้” ว่า รัฐบาลกำหนดให้ทุกวันที่ 1 - 7 พ.ย. ของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ในปีนี้ สธ. ได้รณรงค์ ภายใต้แนวคิด “การปฐมพยาบาลทางใจ...คุณก็ช่วยคนอื่นได้” เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแล ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ตนเอง และคนรอบข้างในทันที หลังประสบเหตุวิกฤตและความสูญเสียในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ให้คำปรึกษา และไม่ต้องผ่านการอบรม ยิ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในห้วงเวลาไว้อาลัยจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง การปฐมพยาบาลทางใจพี่น้องประชาชนชาวไทย จึงมีความสำคัญ สามารถทำได้ด้วยการใช้หลัก 3 ส. หรือ 3L ได้แก่

1. สอดส่องมองหา (Look) ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง 2. ใส่ใจรับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ และ 3. ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) โดยให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร และยา หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน สังคมและบุคคลใกล้ชิดจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ประสบภาวะวิกฤต และความสูญเสียได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้องเหมาะสมทันท่วงทีสามารถก้าวผ่านวิกฤต และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เทคนิคการสอดส่องมองหาทำได้โดยสังเกตระดับเสียง ลักษณะการร้องไห้ หรือสอบถามด้วยคำถามปลายเปิดเพื่อประเมินอารมณ์ เช่น อารมณ์ช่วงนี้เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร พอจะเล่าให้ฟังได้ไหม จัดการกับความเศร้าอย่างไร เพื่อให้ได้ระบายความทุกข์ในใจ เทคนิคการใส่ใจรับฟัง ทำได้โดยรับฟังอย่างตั้งใจ และพยายามวิเคราะห์ความหมายไปด้วย ไม่โต้แย้ง ไม่แย่งพูด ฟังจนกว่าอีกฝ่ายจะหยุด หรือขอความเห็น ไม่ควรเงียบเป็นเวลานาน ควรตอบรับบ้าง ถามบ้างเพื่อให้เขารู้สึกได้รับความใส่ใจ สะท้อนความรู้สึก และทวนความ ส่วนเทคนิคการส่งต่อเชื่อมโยง กรณีส่งต่อ คือ คนรู้สึกเศร้าเสียใจ ร้องไห้ตลอดเวลา เครียดมาก นอนไม่หลับ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และมีความคิดฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“กรมฯ ได้มีการจัดรถโมบายคลายเครียด จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 มาประจำที่กองอำนวยการสนามหลวง เพื่อดูแลประชาชนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพ โดยรถดังกล่าวจะเหมือนกับโรงพยาบาลเคลื่อนที่ ให้บริการดูแลคนที่ตรวจประเมินคัดกรอง ณ จุดบริการที่สนามหลวงแล้ว พบว่า มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งมีหลายระดับ ทั้งความเครียดอย่างเดียว หายใจเร็ว วิตกกังวล หรือมีเสี่ยงโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เป็นต้น โดยภายในรถจะมีเครื่องไบโอฟีดแบ็กตรวจวัดระดับความเครียด เก้าอี้คลายเครียด และมุมให้บริการปรึกษา ซึ่งการจัดรถโมบายคลายเครียดนั้น ทำให้มีมุมส่วนตัวที่เงียบสงบในการดูแลผู้ป่วย” อธิบดีสุขภาพจิต กล่าว

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มีผู้มารับการปฐมพยาบาลทางใจวันละ 150 คน โดยพบมีกลุ่มที่มีอาการเครียดอยู่ก่อนแล้วเมื่อเจอเหตุการณ์สวรรคต ทำให้เครียดมากขึ้นประมาณ 50 คน และคนที่เผชิญเหตุการณ์สวรรคต ซึ่งถือเป็นความเสียใจอย่างใหญ่หลวง ทำให้เกิดความเครียด รู้สึกสุญเสียอย่างรุนแรงประมาณ 2 - 4 รายต่อวัน ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนได้แสดงออกความรู้สึกสูญเสียเป็นสิ่งที่ดีอย่างมาก เพราะทางจิตวิทยาถือการให้ประชาชนได้แสดงความรู้สึกเป็นสิ่งจำเป็นในการคลายความทุกข์โศก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ปี 2559 ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. นิทรรศการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เช่น พระราชกรณียกิจ งานในพระราชดำริ พระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านด้านสุขภาพ ที่น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ เป็นต้น และ 2. การจัดหน่วยปฐมพยาบาลทางใจ และให้บริการเชิงรุกเข้าหาประชาชน เสริมพลังใจและดูแลช่วยเหลือส่งต่อกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อย่างทันท่วงที

กำลังโหลดความคิดเห็น