xs
xsm
sm
md
lg

อย่าชม-อย่าแชร์ ไลฟ์สด “ฆ่าตัวตาย” เสี่ยงพฤติกรรมเลียนแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต แนะ อย่าชม อย่าแชร์ คลิปฆ่าตัวตาย เหตุก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบได้ ขอสังเกตสัญญาณเตือน ช่วยให้เร็ว เข้าให้ถึงบริการ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่มักปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ว่า การถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายในลักษณะเช่นนี้ ไม่สามารถตัดต่อ หรือเซนเซอร์ได้ในขณะออกอากาศ และหากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (copycat suicide) ในผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว หรืออาจเคยมีความคิดอยากตาย หรือมีปัญหาทุกข์ใจคล้าย ๆ กันกับผู้ตายได้ ที่สำคัญ หากผู้รับชมเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ไม่ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดคิดว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องง่าย ได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น หากพบเห็นภาพเหล่านี้ ต้องรีบยับยั้ง อย่าแชร์ หรือบอกต่อ สนทนาเรียกสติผู้ที่คิดจะก่อเหตุให้หลุดจากห้วงอารมณ์นั้น หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปยังที่เกิดเหตุเร็วที่สุด และไม่ติดตามการถ่ายทอดสดจนจบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองในอนาคต จึงขอฝากเตือนไปยังผู้ที่ชมคลิปการฆ่าตัวตาย อย่าคิดว่า วิธีการดังกล่าวเป็นทางออกที่ถูกต้องของการแก้ไขปัญหา ทางออกที่ดีที่สุด คือ การปรึกษาผู้ใกล้ชิด ครอบครัว หรือจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของการฆ่าตัวตายจะมาจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ส่วนกรณีติดการพนันนั้น จะพบว่า มีความเสี่ยงซึมเศร้าและมีโอกาสฆ่าตัวตายได้สูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดการพนัน การไม่เริ่มลองเล่น จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะไม่ต่างจากการลองยาเสพติด ที่ลองแม้เพียงนิดก็สามารถติดได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า การแสดงออกถึงการจะทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยคำพูด หรือพฤติกรรม เช่น การส่งข้อความ ภาพ คลิปวิดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัย ๆ หรือการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ แต่มัน คือ call for help ที่เขาพยายามร้องขอความช่วยเหลือ และต้องช่วยเหลือในทันที

“ขอให้ใส่ใจกับสัญญาณเตือนและช่วยยับยั้งความคิดนั้นให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้ เรียกสติเขากลับมาด้วยการรับฟัง ให้ข้อคิด ช่วยเปลี่ยนการตัดสินใจ หากเราไม่สามารถช่วยเหลือ หรือจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง อาจช่วยได้โดยการเชื่อมต่อหาคนพูดคุยด้วย เช่น คนที่เขารัก ไว้ใจ หรือใกล้ชิดที่สุด ตลอดจน สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วน1669 หรือ 191 และสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว เช่นเดียวกับครอบครัว และผู้ใกล้ชิดที่ย่อมได้รับผลกระทบด้านจิตใจเป็นอย่างมาก กรมสุขภาพจิต จะดำเนินการประสานทีม MCATT ในพื้นที่เกิดเหตุทุกครั้งอย่างทันท่วงที เพื่อให้การดูแลเยียวยาจิตใจทุกครอบครัวที่สูญเสีย ป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น