xs
xsm
sm
md
lg

7 ข้อควรคำนึงก่อนไปสนามหลวง /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม้วันเวลาจะผ่านมา 12 วันแล้ว สำหรับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ผู้คนก็ยังหลั่งไหลกันมาจากทั่วสารทิศไปที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อไปถวายสักการะพระบรมศพ และเชื่อว่า นับวันจะยิ่งหนาแน่น โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป ที่สำนักพระราชวังจะเปิดให้ขึ้นถวายสักการะบนที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้

แน่นอนว่า เมื่อจะไปที่พระบรมมหาราชวังก็ต้องไปที่...สนามหลวง...

ฉบับนี้อยากจะมีข้อแนะนำสำหรับคนที่จะเดินทางไปสนามหลวงว่าควรต้องมีการเตรียมตัวให้ดีพอสมควร

หนึ่ง - เตรียมชุดแต่งกายให้เหมาะสม

ช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย กลางวันแดดร้อน บางช่วงเวลาฝนก็ตก เพราะฉะนั้น นอกจากจะแต่งชุดไว้ทุกข์ที่เหมาะสมแล้ว ควรแต่งกายให้เหมาะกับสภาพอากาศด้วย และทางที่ดีควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมรับได้ทุกสถานการณ์ เช่น หมวก ร่ม ฯลฯ

สอง - เก็บขยะของตัวเอง

ยิ่งมีภาพข่าวที่มีอาสาสมัครและกลุ่มจิตอาสาจำนวนไม่น้อยไปช่วยเก็บขยะที่ท้องสนามหลวง ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเรากินอาหารหรือทำกิจสิ่งใด แล้วจะทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง เพราะต่อให้มีอาสาสมัครมากมายขนาดไหน ก็ไม่เพียงพอสำหรับคนเรื่อนหมื่นเรือนแสนที่สร้างขยะ แต่ถ้าตัวเองรับผิดชอบขยะส่วนตน ไม่ทิ้งในที่สาธารณะ ก็ไม่เกิดขยะ

สาม - อย่าเห็นแก่ได้

ตอนนี้มีหลายหน่วยงานที่มีการแจกจ่ายอาหารฟรีหลายจุด และมีตลอดทั้งวัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ก็ควรที่จะตระหนักถึงการรับอาหารที่ควรจะกินเฉพาะตัว มิใช่รับของแจกแล้วนำกลับบ้าน หรือแม้แต่รับบริจาคสิ่งของก็ควรตระหนักด้วยว่ารับไปแล้วได้ใช้หรือไม่ ถ้าเป็นการรับเพื่อเอาไว้ก่อนเพราะเป็นของฟรี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ ก็เท่ากับกลายเป็นคนเห็นแก่ได้ ควรจะให้คนอื่นที่เขามีความจำเป็นมากกว่าเรา

สี่ - ระวังเด็กพลัดหลง

ปัญหาใหญ่ของผู้ใหญ่ที่พาเด็กเล็กไปด้วย ต้องระมัดระวังปัญหาเรื่องเด็กพลัดหลงด้วย โดยส่วนตัวไม่แนะนำให้พาลูกเล็กไปค่ะ แต่ถ้าลูกโตแล้วก็สามารถไปได้ เพียงแต่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนจำนวนมาก เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องระมัดระวังลูก ๆ ของเราด้วย แต่ก็เข้าใจว่าบางครอบครัวก็มีความจำเป็นต้องพาเจ้าตัวเล็กไปด้วย ก็อย่าปล่อยลูกอยู่ตามลำพัง หรือคลาดสายตาเด็ดขาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จูงมือลูกไว้ไม่ให้หลุดจากกัน เพราะกรณีเด็กหายมักเกิดจากพ่อแม่ไม่จูง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ขวบ และอย่าคิดว่าแค่แป๊บเดียว เพราะส่วนใหญ่ที่เด็กหลงก็เพราะคำว่าแป๊บเดียวนี่แหละ

ที่สำคัญ ควรสอนให้เด็กจดจำสิ่งสำคัญให้ได้ เช่น ชื่อจริงตัวเอง ชื่อพ่อแม่ อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่ รวมไปถึงการสอนวิธีโทรศัพท์ให้ติดต่อพ่อแม่ หรือญาติโดยให้ลูกจำเบอร์ที่บ้าน และเบอร์มือถือพ่อแม่ให้ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะเขียนชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์พ่อแม่ติดตัวเด็กไว้

ห้า - ระวังมิจฉาชีพ

เป็นธรรมดาของสถานที่ที่มีผู้คนมากมาย ที่มักเป็นสถานที่ที่บรรดามิจฉาชีพแฝงตัวอยู่ จึงควรระมัดระวังทรัพย์สินของตัวเอง วางแผนการนำกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย หรือการแต่งกายที่ไม่ล่อแหลม เพื่อเป็นจุดสนใจให้กับบรรดามิจฉาชีพ ซึ่งรวมไปถึงรูปแบบอื่น ๆ เช่น หลอกลวง ตบทรัพย์ หรือฉกชิงวิ่งราว ฯลฯ

หก - สำรวจพื้นที่โดยรอบ

มีความจำเป็นที่เวลาเราไปที่ไหน ก็ควรจะสำรวจพื้นที่รอบตัวว่ามีอะไรบ้าง ส่วนใดอยู่ตรงไหน กองอำนวยการอยู่ตรงไหน ห้องน้ำอยู่ตรงไหน มีสถานที่ตรงไหนที่ให้ข้อมูล เต็นท์ปฐมพยาบาล หรือถ้าเวลาเกิดเหตุอะไร ก็ควรสังเกตว่าเราควรจะไปที่ไหนอย่างไร จะได้ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

เจ็ด - ระวังโรคติดเชื้อ

ในสถานที่คนจำนวนมาก มีโอกาสที่จะมีเชื้อโรคตามมาด้วย ถ้าใครที่ร่างกายไม่แข็งแรง อย่าได้ไปในสถานที่พลุกพล่านเลยค่ะ เพราะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองแล้ว ยังจะไปแพร่เชื้อโรคให้คนอื่นด้วย หรือหลังกลับจากสนามหลวง ก็ควรล้างมือทุกครั้งเมื่อกลับบ้าน

ที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องตระหนักให้ดีว่าไปเพราะอะไร ไม่ใช่ไปเพราะเห็นเขาไปกัน เขาพูดถึงกัน

ถ้าตระหนักดีแล้วว่าไปเพราะเพื่อไปถวายสักการะพระบรมศพองค์พระประมุข การวางตัวให้เหมาะสมก็จะเกิดขึ้นโดยตัวเราเอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น