เคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ไม่ขึ้นค่าจ้าง 8 จังหวัด ที่เหลือทั่วประเทศขึ้นหมดแบ่ง 3 กลุ่ม 5 บาท 49 จังหวัด 8 บาท 13 จังหวัด และ 10 บาท 7 จังหวัด รองโฆษก ก.แรงงาน ยันพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว ทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง สอดคล้องระบบเศรษฐกิจ เตรียมเสนอ รมว.แรงงาน ชงเข้า ครม. ต่อ
การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ซึ่งใช้สูตรคำนวณใหม่ โดยเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่า 10 รายการ ผลการพิจารณาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ไม่ขึ้นค่าจ้าง 8 จังหวัด 2. ขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด 3. ขึ้น 8 บาทมี 13 จังหวัด และ 4. ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขั้นตอนการพิจารณาทุกขั้นตอนได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว ซึ่งข้อมูลทุกอย่างได้ผ่านพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด ที่มีผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างด้วยแล้ว รวมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง สำหรับการพิจารณาครั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจไปกำหนดแนวทางเพื่อใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มเติมตัวชี้วัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในปี 2558 - 2559 มาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ (จีดีพี) คำนวณจากปี 2553 - 2557 รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ได้ศึกษาค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปกระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างดังกล่าวเสนอ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากนั้นรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ต่อไป จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 นี้ สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม
สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ไม่ขึ้นค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ระนอง, นราธิวาส, ปัตตานี และ ยะลา
กลุ่มที่ขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, พัทลุง, สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง, เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีษะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย
กลุ่มที่ขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง,สุราษฎร์ธานี, สงขลา. เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และ อยุธยา
กลุ่มที่ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และ ภูเก็ต