โดย ทพญ.นราวัลลภ์ เชี่ยววิทย์
งานทันตกรรม รพ.ศิริราช
โรคฟันผุเป็นโรคติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เชื้อแบคที่เรียในคราบจุลินทรีย์ อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ตัวฟันที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ เช่น ฟัมที่มีหลุมร่องลึก ฟันที่เรียงตัวชิดกัน ฟัมที่มีโครงสร้างผิวเคลือบฟันที่ไม่แข็งแรง
ขบวนการเกิดฟันผุเริ่มจากการรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์จะย่อยนํ้าตาลเหล่านั้นแล้วผลิตกรดออกมา ทำให้ช่องปากของเราเปลี่ยนสภาพเป็นกรด ซึ่งกรดนี้จะทำให้เกิดการละลายแร่ธาตุจากผิวเคลือบฟันออกไป หากเรารับประทานวันละหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำให้เคลือบฟันถูกละลายอยู่ตลอดเวลา ไม่ทันได้ดูดซึมแร่ธาตุกลับคืนไป ก็จะทำให้ผิวเคลือบฟันแตกออก เกิดเป็นรูให้เห็นเป็นรอยฟันผุ
วิธีการดูแลและป้องกันเพื่อให้เด็กมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง
คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยงเด็กควรเป็นคนทำความสะอาดฟันให้จนกระทั่งเด็กอายุ 6 ปี โดยทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตั้งแต่แรกเกิด โดยการเช็ดในช่องปาก บริเวณเหงือก เพดาน และลิ้น ด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด เพื่อให้เด็กทารกเคยชินกับการให้ผู้ใหญ่ทำความสะอาดในช่องปาก เมื่อเริ่มมีฟันขึ้น ให้ใช้แปรงสีฟันร่วมกับการเช็ดด้วยผ้า และควรแปรงทั้งด้านนอกและด้านในของฟัน บริเวณที่ต้องไม่ลืมทำความสะอาดในเด็กเล็กที่ฟันเพิ่งขึ้นก็คือ ด้านในของฟันหน้าบน เนื่องจากบริเวณนี้มักจะมีคราบนมติดอยู่ และน้ำลายชะล้างไม่ถึง มักจะเกิดฟันผุได้ง่าย
เมื่อเด็กหยิบจับของได้ เด็กอาจจะต้องการแปรงเองบ้าง ผู้ปกครองก็อาจจะให้เด็กได้ฝึกขยับแปรงถูไปมา แต่หลังจากนั้นผู้ปกครองก็ควรแปรงซ้ำให้สะอาดอีกครั้งหนึ่งด้วย โดยการขยับแปรงถูไปมาในแนวนอน และควรทำให้ได้เป็นกิจวัตรทุกวันไม่ให้ขาด เพื่อแสดงให้เด็กเห็นว่าการทำความสะอาดฟันนั้นมีความสำคัญ แล้วเด็กก็จะเคยชินติดเป็นนิสัยไปจนโต นอกจากการแปรงฟันแล้วควรจะใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยเมื่อมีฟันขึ้นชิดกันเพื่อให้สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์บริเวณซอกฟันที่แปรงสีฟันไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้ทั่วถึง
เมื่อเด็กอายุมากกว่า 6 ปี ผู้ปกครองก็ควรควบคุมดูแลให้เด็กแปรงฟันเองอย่างใกล้ชิด และคอยตรวจความสะอาดของฟันและลิ้นทุกวันก่อนนอน หากพบว่าเด็กแปรงไม่สะอาดผู้ปกครองก็ควรแปรงซ้ำให้สะอาดทันที และช่วยใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดระหว่างซอกฟันให้แก่เด็กทุกวัน
นอกจากการทำความสะอาดที่ดีแล้ว เด็กควรได้รับฟลูออไรด์เสริม เพื่อให้เคลือบฟันแข็งแรง ฟลูออไรด์ที่ใช้นั้นมีหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ดฟลูออไรด์ โดยปริมาณฟลูออไรด์ที่ให้รับประทานขึ้นกับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มที่เด็กดื่มเป็นประจำ และอายุของเด็ก ดังนั้น ควรจะปรึกษาทันตแพทย์ก่อนตัดสินใจให้ลูกรับประทานฟลูออไรด์เสมอ การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แนะนำให้ใช้ โดยในเด็กเล็กให้ใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ 500 ส่วนในล้านส่วน โดยใช้ปริมาณน้อย (แค่เปียกขนแปรงเล็กน้อย) แล้วเช็ดฟองออกถ้าเด็กยังไม่สามารถบ้วนน้ำได้ เมื่อเด็กอายุ3‐6ปี ใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อแปรงฟันเสร็จให้บ้วนน้ำออกเล็กน้อย (1‐2ครั้ง) สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปสามารถใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ 1000 ส่วนในล้านส่วน (เท่าของผู้ใหญ่) ได้ นอกจากนั้น การใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่ควบคุมการกลืนได้ดีแล้วและผู้ปกครองมั่นใจว่าเด็กจะไม่กลืนน้ำยาบ้วนปากเข้าไป
การไปพบทันตแพทย์เพื่อขัดฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ ก็เป็นการใช้ฟลูออไรด์ชนิดเข้มข้น เพื่อให้มีการดูดซึมเข้าในผิวเคลือบฟันที่เริ่มมีการสูญเสียแร่ธาตุ ก็สามารถป้องกันฟันผุได้ผลดีเช่นกัน ทั้งนี้ความถี่ในการไปพบทันตแพทย์ขึ้นกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุของเด็กแต่ละคน ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและแนะนำ
จะเห็นว่า การใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุในปัจจุบันนั้น เน้นที่ผลเฉพาะที่ของฟลูออไรด์ นั่นคือ การที่ฟลูออไรด์ได้สัมผัสกับผิวฟัน ทำให้เกิดการคืนกลับของแร่ธาตุให้ผิวฟัน หากได้รับฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้นต่ำ ๆ และได้รับบ่อย ๆ ก็จะทำให้การป้องกันฟันผุมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นความสำคัญในการดูแลสุขภาพฟันของเด็ก ๆ นั้น จึงอยู่ที่การดูแลรักษาที่บ้าน โดยผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเป็นหลัก
อาหารที่ทำให้เกิดฟันผุ
การดูแลให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดฟันผุ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกได้ ควรจัดอาหารที่มีรสธรรมชาติ และไม่เติมน้ำตาล ให้รับประทานอาหารมื้อหลัก และอาหารว่างให้เป็นเวลา เด็กเล็กไม่ควรให้เด็กดูดนมแล้วหลับคาขวด เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปีควรฝึกให้เด็กดูดนมจากกล่องหรือแก้ว และควรเลิกดูดขวดนมเมื่อเด็กอายุประมาณ 1.5 ปี หลีกเลี่ยงการรับประทานทานขนมจุบจิบจำพวกลูกอม ช็อกโกแลต ที่เหนียวติดฟันระหว่างมื้ออาหาร เนื่องจากทุกครั้งที่เรารับประทานอาหารที่มีรสหวาน เชื้อโรคในช่องปากก็จะย่อยนํ้าตาลเหล่านั้น แล้วเกิดกรดทำให้ช่องปากของเราเปลี่ยนสภาพเป็นกรด ซึ่งกรดนี้จะทำให้เกิดการละลายแร่ธาตุจากผิวเคลือบฟันออกไป หากรับประทานวันละหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำให้เคลือบฟันถูกละลายอยู่ตลอดเวลา ไม่ทันได้ดูดซึมแร่ธาตุกลับคืนไป ก็จะทำให้เกิดฟันผุ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกเกี่ยวกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง บอกสาเหตุของการเกิดฟันผุให้ลูกทราบ และพยายามไม่ซื้อขนมและของขบเคี้ยวให้ลูก สอนให้ลูกรับประทานผักและผลไม้ หรืออาหารว่างอื่นๆที่ไม่ทำให้เกิดฟันผุ ควรเริ่มสอนตั้งแต่เล็ก ๆ และสร้างนิสัยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานอาหารเป็นเวลา
เด็ก ๆ ควรดื่มนมรสจืด ปัจจุบันมีนมหลากหลายรูปแบบ และรสชาติ คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่เห็นลูกไม่ค่อยดื่มนม จึงพยายามเอานมที่มีรสชาติต่าง ๆ มาหลอกล่อให้เด็กดื่ม นมที่มีรสชาติหวานๆเหล่านี้มักมีน้ำตาลสูง รวมทั้งนมเปรี้ยวก็เป็นนมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเช่นกัน ดังนั้น หากเด็กสามารถดื่มนมรสจืด ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่