xs
xsm
sm
md
lg

เซลล์มะเร็งคุณเป็นแบบไหน? เรื่องควรรู้ของผู้ป่วยหวังสู้มะเร็งเต้านม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...นพ.สืบพงศ์ ธนสารวิมล แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์

โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 28.6 รายต่อประชากรจำนวน 100,000 คน โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วงอายุประมาณ 45 - 55 ปี ทั้งนี้ยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าในประเทศไทยประชากรแพศหญิงช่วงอายุ 30 - 35 ปี มีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้นเรื่อย

มะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ผู้หญิงไทยไม่ควรละเลยต่อการตรวจเช็กตนเอง และการตรวจคัดกรองด้วยการเอ็กซเรย์เต้านม เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที โดยการรักษามะเร็งเต้านมในระยะหนึ่งหรือสอง จะมีโอกาสหายได้มากถึงร้อยละ 90

เดิมการรักษามะเร็งเต้านมมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับระยะโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะการรักษาด้วยยา มีความจำเพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น เนื่องจากความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้นในการแบ่งแยกชนิดของมะเร็งเต้านม ซึ่งมีการดำเนินโรคและการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน โดยแพทย์สามารถแยกชนิดมะเร็งเต้านมดังกล่าว ได้ด้วยการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านม เพื่อดูการแสดงออกของโปรตีนสองอย่าง ได้แก่

การตรวจตัวรับของฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ตัวรับเอสโตรเจน (Estrogen Receptor - ER) และตัวรับโปรเจสเตอโรน (Progesterone Receptor - PGR) โดยการมีตัวรับฮอร์โมนจะบ่งบอกได้ว่ามะเร็งนั้น ๆ สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

การตรวจตัวรับเฮอร์ทู (HER2) การมีตัวรับนี้บ่งบอกว่ามะเร็งนั้น ๆ อาจมีการแสดงออกของตัวรับนี้สูงผิดปกติ ซึ่งมักเจริญเติบโตรวดเร็วและดื้อยาได้ง่าย การรักษาด้วยยาต้านเฮอร์ทูอาจมีผลในการกำจัดเซลล์มะเร็งเหล่านี้

โดยวิธีการตรวจสอบข้างต้นนี้จะสามารถ ทำให้แยกชนิดของมะเร็งเต้านม ได้ดังต่อไปนี้

1. มะเร็งเต้านมที่มีผลบวกต่อตัวรับฮอร์โมน และผลลบต่อตัวรับเฮอร์ทู (HR+/HER2-) ซึ่งพบประมาณ ร้อยละ 73 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด มีแนวโน้มว่าจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนมากกว่าชนิดอื่น

2. มะเร็งต้านมที่มีผลลบทั้งสามส่วน (Endocrine receptor-negative: HR- / HER2-) เซลล์มะเร็งเต้านมชนิดนี้สามารถพบได้ประมาณร้อยละ 13 ของกลุ่มผู้ป่วยเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วมะเร็งเหล่านี้มักตอบสนองได้ดีต่อเคมีบำบัด และไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมน

3. มะเร็งเต้านมที่มีผลบวกต่อตัวรับฮอร์โมนและผลบวกต่อตัวรับเฮอร์ทู (HR+/HER2+) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด เซลล์มะเร็งดังกล่าวจะสามารถตอบสนองได้ดีต่อยาต้านเฮอร์ทู (anti HER2) และ/หรือร่วมกับยาต้านฮอร์โมน

4. มะเร็งเต้านมที่มีผลลบต่อตัวรับฮอร์โมนและผลบวกต่อตัวรับเฮอร์ทู (HR-/HER2+) ซึ่งพบประมาณ ร้อยละ 5 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด โดยมีแนวโน้มการตอบสนองที่ดีต่อยาต้านเฮอร์ทู

ทั้งนี้ แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ระยะของโรคและชนิดของมะเร็งเต้านม ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยยา ทั้งยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด และยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้จำเพาะมากขึ้น กล่าวคือ มีประสิทธิภาพสูงและอาการข้างเคียงต่ำ โดยปัจจุบันมีบทบาทอย่างมากในการรักษามะเร็งที่มีตัวรับฮอร์โมนหรือเฮอร์ทูเป็นบวก

ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมมีความจำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละคนมากขึ้น การตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้นและการได้รับการรักษาที่จำเพาะกับชนิดของมะเร็งเต้านมนั้น ๆ จะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น