เมื่อกะเหรี่ยงโปว์ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ต้องการจะแสดงความเป็นตัวตนของพวกเขาให้ผู้คนได้รู้จัก ทำให้ “นัฎนิชา ทองสินธุ์” และ “ศิวะพร สุขเกษม” สองสาวนักศึกษาจากสาขาวิชามีเดียอาตส์ เอกการออกแบบกราฟิก โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับกะเหรี่ยงโปว์สวนผึ้ง แล้วนำมาเรียบเรียงไว้บนเว็บไซต์ http://karenthesismda.wixsite.com/powkarensp ซึ่งเว็บไซต์นี้จะบอกเล่าทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย และประเพณีต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนเมืองช่วงวัยนักศึกษาถึงกลุ่มคนวัยทำงาน และเมื่อนำผลงานต้นแบบความคิดที่ผลิตขึ้น ไปนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เมื่อทราบถึงที่มาก็ได้รับความสนใจมากขึ้น รวมถึงกลุ่มกะเหรี่ยงโปว์สวนผึ้งก็พึงพอใจในผลงานการออกแบบ
นอกจากนี้ ได้มีการวาดภาพประกอบสอดแทรกในเนื้อหาด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่น่าเบื่อ และทั้งสองยังได้นำเอาเอกลักษณ์ของกะเหรี่ยงโปว์สวนผึ้งมาประยุกต์เป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นของที่นำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันที่มีความร่วมสมัย เป็นการเชื่อมโยงวิถีชนเผ่าสู่วิถีชาวเมืองได้อย่างลงตัว
นัฎนิชา ทองสินธุ์ ให้ข้อมูลว่า หมวกลาย “ทุกุนู่” ใบนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายแบบดั้งเดิมของชายชาวกะเหรี่ยงโปว์สวนผึ้ง ที่จะสวมทุกุนู่ไว้บนศีรษะ (ทุกุนู่คือผ้าโพกศีรษะ ซึ่งจะขมวดปมไว้ตรงหน้าผาก) ซึ่งเมื่อได้สวมหมวกใบนี้แล้ว ก็เหมือนกับการได้สวมทุกุนู่นั่นเอง
แม้แต่วัฒนธรรมการกินก็ถูกหยิบนำมาสื่อความหมายเช่นกัน เช่น “ข้าวห่อ” ซึ่งเป็นขนมที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์สวนผึ้งจะรับประทานกันในพิธีผูกแขนเรียกขวัญ ก็ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับการออกแบบกระเป๋า ซึ่งข้าวห่อจะมีลักษณะเป็นการเอาข้าวใส่ไว้ในห่อ ก็เปรียบเหมือนกับการที่คนเราเอาข้าวของต่าง ๆ ใส่ไว้ในห่อหรือกระเป๋านั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการนำเอา “ลายตาเสือ” ซึ่งเป็นลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกะเหรี่ยงโปว์สวนผึ้ง มาใช้ออกแบบเป็นลวดลายใน Accessories ต่าง ๆ ด้วย ทั้งเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า สายนาฬิกา ยางรัดผม โดยมาจากการเชื่อมโยงความคิดที่ว่าลายปักทอ คือ สิ่งตกแต่งเสื้อผ้า Accessories ก็คือสิ่งที่ตกแต่งตัวเรา
ส่วนอีกเซตหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เซตเครื่องเขียน โดย ศิวะพร สุขเกษม ได้เล่าให้ฟังว่า ชื่อ “สวนผึ้ง” ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ที่มีผึ้งอยู่มาก ชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่นี่จึงมีอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การตีผึ้ง” ซึ่งจะทำในช่วงเดือน 5 โดยชาวกะเหรี่ยงจะต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างในการตีผึ้ง ในขณะเดียวกัน เราก็คิดว่าชาวเมืองอย่างพวกเราเองก็ต้องใช้ “เครื่องเขียน” เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพเช่นกัน เราจึงได้ออกแบบแพตเทิร์นลายผึ้งที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของกะเหรี่ยงโปว์ที่นี่ แล้วนำไปใช้ในเซตเครื่องเขียน เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพของชาวกะเหรี่ยงและชาวเมืองนั่นเอง ทั้งนี้ สามารถชมผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ : http://kksiwaporn.wixsite.com/portfolio/branding3
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่