เครือข่ายสลัมสี่ภาค และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ ผนึกพลังกว่า 1,000 คน เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2559 รณรงค์และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติ - รัฐบาล แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เสนอจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อให้มีโฉนดชุมชน และขอรัฐคุ้มครองพื้นที่พิพาทที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ชาวบ้านถูกขับไล่และดำเนินคดี ขณะที่กลุ่มต้านรื้อป้อมมหากาฬบุกศาลา กทม. ยื่นข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีร่วมแก้ไขปัญหา
องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 สมาชิกเครือข่ายสลัมสี่ภาค และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 1,000 คน ได้จัดตั้งขบวนที่ถนนราชดำเนิน หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) และอ่านแถลงการณ์ พร้อมกับยื่นหนังสือถึง นายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยมีตัวแทนองค์การสหประชาชาติ ออกมารับมอบหนังสือ จากนั้นขบวนได้เดินทางมาที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีตัวแทนรัฐบาล ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้อง
แถลงการณ์ถึง UN ระบุว่า ในปีนี้องค์การสหประชาชาติ ได้สื่อสารข้อความเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกว่า “Housing at the Center” ซึ่งเป็นการเน้นการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้เพียงพอสำหรับคนจน เนื่องจากประชากรที่อยู่ในเมืองทั่วโลกเพิ่มขึ้นจำนวน 50 ล้านคนในทุกปี เรื่องที่อยู่อาศัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ซึ่งหากไม่มีมาตรการและนโยบายรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็จะทำให้กลุ่มเปราะบางเหล่านั้น มีแนวโน้มที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีปัญหาความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย คือ การไล่รื้อชุมชนอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น แผนพัฒนาพิเศษเขตเศรษฐกิจพระราม 3 บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 277 ไร่ ซึ่งมีประชาชนเช่าที่ดินอยู่อาศัยและจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 500 ครอบครัว,
โครงการพัฒนาพื้นที่การท่าเรือคลองเตยเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบราว 20,000 ครอบครัว, การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งรถไฟความเร็วสูง การขยายทางคู่ ที่มีแผนการก่อสร้างในทุกภาคของประเทศไทย ทำให้ชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมทางรถไฟต้องถูกไล่รื้อ หรือรื้อย้ายออกจากพื้นที่, โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะแรก 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จะส่งผลกระทบต่อชุมชนตลอดแนวชายฝั่งแม่น้ำ ฯลฯ
นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัมสี่ภาค ขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ 1. ด้านที่อยู่อาศัย ให้รัฐบาลสนับสนุน โครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมืองอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างหลักประกันในด้านที่อยู่อาศัยของคนจนโครงการของรัฐที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย รัฐบาลต้องมีนโยบายให้การประปา และการไฟฟ้า ดำเนินการขยายระบบ หรือติดตั้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากชาวบ้าน และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยต่อชุมชน รัฐบาลต้องบวกงบประมาณดำเนินการในส่วนนี้เป็นต้นทุนของโครงการด้วย เช่น โครงการพัฒนาระบบรางรถไฟในจังหวัดสงขลา
2. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน และให้รัฐบาลสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เก็บค่ารักษาปลายทาง และต้องให้สิทธิ์กลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์ เช่น คนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนให้สามารถเข้ารับการรักษาได้
“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและทำกินนั้น รัฐบาลต้องจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อให้มีโฉนดชุมชน และเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน โดยการส่งมอบพื้นที่นำร่องสำหรับชุมชนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะที่ผ่านกระบวนการพิจารณาแล้ว รวมทั้งเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. สิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากร และ พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน เพื่อให้คนจนเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ ขอให้รัฐคุ้มครองพื้นที่พิพาทที่อยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ชาวบ้านถูกขับไล่และดำเนินคดี” นางนุชนารถ กล่าว
นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กล่าวว่า สอท. ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเช่นกัน โดยมีเนื้อหา 1. ให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยโดยเร่งด่วน โดยตัวแทนองค์กรชาวบ้านขอเข้าร่วมประชุมและชี้แจงด้วย 2. ให้มีการแก้ไขกฎหมาย ข้อระเบียบ คำสั่ง ที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย 3. กรณีที่รัฐมีนโยบายทวงคืนที่ดินประเภทต่าง ๆ เช่น ส.ป.ก. พื้นที่ป่าสงวนฯ อุทยานฯ จากผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง ขอให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ด้อยโอกาส และ 4.กรณีไล่รื้อชุมชนในที่ดินของรัฐ (ป้อมมหากาฬ) ขอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
หลังจากที่สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ได้ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนรัฐบาลแล้ว เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ขบวนสมาชิก สอช. ประมาณ 500 คน ได้เคลื่อนขบวนมาตามถนนราชดำเนิน เพื่อมุ่งหน้ามายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงได้ให้สมาชิกรวมกลุ่มกันที่หน้าประตูทางเข้าศาลาว่าการ กทม. โดยมีแกนนำกล่าวปราศรัยกล่าวโจมตีการทำงานของ กทม. ที่จะขับไล่คนจนออกจากป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะ และเรียกร้องให้ผู้บริหาร กทม. ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้อง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของชาวบ้านที่ขู่ว่าจะบุกเข้าไปในศาลา กทม. เนื่องจากอากาศข้างนอกมีสภาพร้อนจัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเทศกิจประมาณ 100 คน นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณทางเข้าประตูชั้นล่าง
เวลาประมาณ 11.30 น. นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงมาพบปะกับกลุ่มผู้ชุมชน โดยตัวแทนชาวบ้านป้อมมหากาฬ ได้อ่านแถลงการณ์และมอบข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ 1. ให้ยุติการรื้อถอนบ้านที่ยังไม่รื้อย้ายในชุมชนป้องมหากาฬเอาไว้ก่อน 2. ขอให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพหุภาคี” ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม/เอกชน ชุมชน ภาควิชาชีพ และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้คนอยู่กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ได้ และเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์แนวใหม่ โดย นางผุสดี ได้รับหนังสือจากชาวบ้าน และได้กล่าวว่าตนไม่ได้รับผิดชอบเรื่องนี้ แต่จะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะผู้บริหาร กทม. โดยเร็ว หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงสลายตัว